“เฉลิมชัย”จี้ผู้รับเหมาเร่งงานเจาะอุโมงค์ส่งน้ำ

“เฉลิมชัย”จี้ผู้รับเหมาเร่งงานเจาะอุโมงค์ส่งน้ำ

เฉลิมชัย” จี้ผู้รับเหมาเร่งมือเจาะอุโมงค์ ย้ำติดไหนให้หารือชลประทานด่วน ขู่อย่าให้ถึงที่สุดต้องใช้กฎหมายฟัน ขณะที่รองอธิบดีกรมชลฯแจง“เนื้องานเพิ่มกว่าครั้งที่แล้วเท่าตัว ชี้ติดปัญหาพื้นที่อุทยานเรื่องจ่อ ครม. แล้ว เชื่อนายกฯสั่งบูรณาการเรื่องผ่านแน่นอน

วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2562 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในองเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นายจิตะพล รอดพลอย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

จากนั้นคณะได้เดินทางไปดูความคืบหน้าการก่อสร้างที่จุดก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่ตะมาน ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และตรวจดูสภาพอุโมงค์ส่งน้ำในช่วงแรกจาก ปตร. ไปยังทางเข้า-ออกที่ 1 หรือ Adit-1 โดย บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด ได้ขุดระเบิดจากทั้ง 2 ฝากเข้าหากันเสร็จแล้ว สามารถเชื่อมต่อกันได้ตามแนวอุโมงค์ที่ต้องการ เสร็จสิ้นการดูความคืบหน้าที่ ปตร.แม่ตะมาน คณะได้เดินทางมายังสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 ต.สันโป่ง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมและความคืบหน้าการก่อสร้างตามโครงการฯ

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ หรือ “อ่างพวง” ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารจัดการน้ำในลักษณะการนำน้ำส่วนเกินจากอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณมาก ผันไปเติมให้กับอ่างเก็บน้ำที่ขาดแคลนน้ำ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะและมีแนวทางการดำเนินโครงการการตามแนวพระราชดำริดังกล่าว โดยการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเพื่อนำน้ำส่วนเกินจากลำน้ำแม่แตงในฤดูน้ำหลาก มาพักไว้ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จากนั้นปริมาณน้ำดังกล่าวจะรวมกับปริมาณน้ำส่วนเกินของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ส่งผ่านอุโมงค์ส่งน้ำไปเติมน้ำให้แก่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯน้อยกว่าความจุของอ่างฯเป็นประจำทุกปี โดยโครงการฯไม่เพียงแต่เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ แต่ยังเป็นการเชื่อมต่อเขื่อน 2 แห่งซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของในหลวง ร.9 ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มเสถียรภาพการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนทั้ง 2 แห่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบนได้อย่างยั่งยืน

“โครงการเพิ่มปริมาณน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราเกิดจากความต้องการใช้น้ำจากเขื่อนแม่กวงฯ ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นสืบเนื่องความเจริญเติบโตของเมืองจึงมีแนวคิดในการที่จะเพิ่มปริมาณน้ำโดยใช้แนวคิดที่ว่า “ดึงน้ำมากมาช่วยบริเวณที่น้ำน้อย” โดยการก่อสร้างอุโมงค์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นโครงการคือ บริเวณประตูระบายน้ำแม่ตะมาน หรือ ปตร.แม่ตะมาน ซึ่งมีการดำเนินการก่อสร้างแล้วผลงานคืบหน้ากว่า 30 เปอร์เซ็นต์ โดยจะนำน้ำจาก ปตร.แม่ตะมานไปตามอุโมงค์น้ำโดยจะนำไปพักที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ความยาวอุโมงค์ราว 26.000 กิโลเมตร ซึ่งจะได้น้ำต้นทุนที่นำไปพักราว 113 ล้าน ลบ.ม. จากนั้นจะมีการก่อสร้างอุโมงค์อีกสายหนึ่งจากเขื่อนแม่งัดฯ ไปยังเขื่อนแม่กวงฯ ระยะทางราว 23.000 กิโลเมตร ช่วงนี้จะได้น้ำเพิ่มเติมอีกราว 47 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่เขื่อนแม่กวงฯ จะได้เพิ่มในแต่ละปีราว 160 ล้าน ลบ.ม.

รมว.เกษตรฯกล่าวอีกว่า สำหรับการเพิกถอนพื้นที่ก่อสร้างออกจากเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนามีการดำเนินการตามอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 แต่เนื่องจากมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาก รวมทั้ง พรบ.อุทยานแห่งชาติก็มีการแก้ไขใหม่ อีกอย่างการก่อสร้างอุโมงค์เป็นเรื่องใหม่ต้องมีการพิจารณาข้อกฎหมายในชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต ล่าสุดทราบว่าทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติแล้ว ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ก็คงต้องติดตามเพื่อผลัดดันให้กระบวนการนี้ให้แล้วเสร็จต่อไป เรื่องนี้เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่สั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการทำงานดังนั้นเรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาสำคัญ

ด้าน นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำในชั้นหิน โดยการขุดเจาะและระเบิดอุโมงค์ความยาวรวม 49 กิโลเมตร เชื่อมระหว่าง ประตูระบายน้ำแม่ ตะมาน(ลำน้ำแม่แตง) – เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล – เขื่อนแม่กวงอุดมธารา โดยภาพรวมความก้าวหน้างานก่อสร้างของ ทั้งโครงการฯ ประมาณร้อยละ 42 โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง จำนวน 4 สัญญา ได้แก่ อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง – แม่งัด สัญญาที่ 1 ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 51 และสัญญาที่ 2 ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 18 , อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แม่กวง สัญญาที่ 1 ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 23 และสัญญาที่ 2 ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 80 ซึ่งกรมชลประทานจะเร่งรัดงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาโดยเร็วต่อไป ซึ่งที่มาในครั้งนี้เห็นผลงานโดยรวมดีเพิ่มกว่าครั้งขึ้นมาตามความคืบหน้าครั้งก่อนกว่า 2 เท่า

“ภาพรวมความคืบหน้าของการก่อสร้างทั้งโครงการฯ อยู่ที่ 42.03 เปอร์เซ็นต์ ช้ากว่าแผนอยู่ราว 31.34 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุที่ทำให้ล่าช้าสำคัญคือ สภาพธรณีที่อยู่ใต้ดินซึ่งไม่อาจคาดการณ์ได้อย่างชัดเจน เพราะแนวการขุดเจาะจากพื้นดินลึกมาก เฉลี่ยทั้งโครงการแนวอุโมงค์ลึกกว่า 350 เมตร ช่วงที่ลึกสุดลึกถึง 758 เมตร และที่โครงการประสบมามีทั้งสภาพที่เป็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่ สภาพที่เป็นแอ่งน้ำ ซึ่งต้องมีการแก้ไขให้สามารถก่อสร้างตัวอุโมงค์ให้ได้ และแต่ละสาเหตุของปัญหาที่พบนั้นใช้ระยะเวลาในการแก้ไขนานพอสมควร ซึ่งก็ผ่านปัญหานั้นมาได้โดยตลอด ขณะนี้การก่อสร้างเข้าสู่สภาวะปกติ ได้มีการเร่งรัดงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกับเวลาที่เสียไปในการแก้ปัญหา ส่วนอนาคตจะเจออะไรอีกหรือไม่ยังไม่อาจทราบได้ แต่จากประสบการณ์ที่เจอมาตั้งแต่เปิดโครงการเชื่อว่าทั้งเจ้าหน้าที่และผู้รับจ้างจะผ่านอุปสรรคต่างๆ ที่อาจมีขึ้นไปได้โดยตลอด” นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ในที่ประชุมรับฟังรายงานความคืบหน้าการก่อสร้างตามโครงการฯ ซึ่งมีตัวแทนผู้รับจ้างทั้ง 4 สัญญา เข้าร่วมประชุมด้วย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ฝากถึงผู้รับจ้างขอให้เร่งรัดการทำงานให้เป็นไปตามสัญญา เพราะการประมูลได้มาซึ่งงานตามโครงการฯ ย่อมชัดแล้วว่างานนั้นจะทำผลกำไรให้แก่บริษัท หากติดขัดหรือมีปัญหาก็ให้หารือกรมชลประทานโดยด่วนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา รัฐบาลไม่อยากใช้กฎหมายเป็นตัวจัดการหากไม่ถึงที่สุด หวังเพียงว่าอยากให้คิดว่างานที่ทำก็เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ.

You may also like

มนต์เสน่ห์เชียงใหม่ เมืองดอกไม้งาม” ภายใต้แนวคิด The Golden of Lanna

จำนวนผู้