จับตาเศรษฐกิจภาคเหนือ แบงก์ชาติชี้เจอปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน เผยไตรมาส 4 ชะลอและหดตัวทั้งภาคผลิต ส่งออก การลงทุนและท่องเที่ยว

จับตาเศรษฐกิจภาคเหนือ แบงก์ชาติชี้เจอปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน เผยไตรมาส 4 ชะลอและหดตัวทั้งภาคผลิต ส่งออก การลงทุนและท่องเที่ยว

แบงก์ชาติเหนือเผยเศรษฐกิจทั้งชะลอและหดตัว ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม การลงทุน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเจอพิษไวรัสโคโรนา ชี้ปัจจัยเสี่ยงทั้งหนี้ครัวเรือนสูงแบกรับภาระหนักอื้อ ท่องเที่ยว ส่งออก การบริโภคกระทบหมด

เมื่อวันที่ 4 ก.พ.63 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ นายโอรส เพชรเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เป็นประธานแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 4 ปี 2562 ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวและมีปัญหาภายในเรื่องภัยแล้ง พรบ.งบประมาณรายจ่ายที่ล่าช้าและยังมีปัญหาการเสียบบัตรแทนกันทำให้งบประมาณยังไม่สามารถเบิกใช้ได้ ขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนสูงมาโดยตลอดซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ติดตามอยู่ แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศเบาบางลงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นผลมากนัก

ในส่วนของภาคการส่งออก การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวอย่างชัดเจน แม้จะมีมาตรการภาครัฐมาช่วยแต่ก็ช่วยเหลือได้เพียงบางส่วน การใช้จ่ายภาครัฐหดตัว ที่ผ่านมามีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่กระเตื้องขึ้น แต่ปัจจุบันเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาทำให้ภาคการท่องเที่ยวทรุดลงไปอีก ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากไตรมาสก่อน

สำหรับภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือในไตรมาส 4 ปี 2562 มีการชะลอตัว การบริโภคภาคเอกชนก็ชะลอตัวตามกำลังซื้อที่ไม่เข้มแข็ง เพราะรายได้ของเกษตรกรในภาคเหนือซึ่งมีสัดส่วนภาคเกษตรถึงร้อยละ 40-50 ลดลง เมื่อรายได้เกษตรกรไม่ดีการใช้จ่ายก็ไม่ดีตามไปด้วยทำให้การบริโภคหดตัว ปัญหาภัยแล้งยังซ้ำเติมทำให้ภาคเกษตรแย่ลงและส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เพราะสินค้าเกษตรนำไปแปรรูปลดลง และทำให้ภาคการส่งออกลดลงตาม

“รายได้นอกภาคเกษตรอย่างภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจแม้จะขยายตัว แต่เทียบกับช่วงปี 61 ยังขยายตัวชะลอลงโดยเฉพาะจีน การลงทุนภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมและส่งออกมีปัญหาจึงส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนหดตัว การลงทุนเพื่อการผลิตและก่อสร้างก็ลดลงด้วย การใช้จ่ายภาครัฐก็มีปัญหา เงินเฟ้อสูงขึ้นร้อยละ 0.3 การจ้างงานลดลง ดัชนีการบริโภคขยายตัว0.3%จากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลทั้งชิมช้อปใช้แต่ก็เป็นแค่กลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภคซึ่งช่วยพยุงการใช้จ่ายได้เพียงร้อยละ 3 แต่กลุ่มที่ลดลงเห็นได้ชัดเจนคือพวกสินค้าคงทนที่ลดลงถึงร้อยละ 3.4 เช่นพวกเช่าซื้อรถยนต์ ภาคเกษตรซึ่งถือเป็นสัดส่วนรายได้ร้อยละ 42 หดตัวเนื่องจากข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอ้อยได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งผลผลิตลดลงถึงร้อยละ 5 โดยเฉพาะข้าวกับอ้อยโรงงานลดลงร้อยละ 2.8 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงร้อยละ 5.3”ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

สินค้าปศุสัตว์จะเป็นตัวพยุงรายได้จากภาคเกษตร เนื่องจากต่างประเทศนำเข้าไก่จากประเทศไทยมาก ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาคอุตสาหกรรมชะลอลง โดยสินค้าแปรรูปเกษตรที่คิดเป็นครึ่งหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมภาคเหนือชะลอลง เพราะข้าวและอ้อยเข้าสู่โรงงานลดลง แต่สินค้าหมวดเครื่องดื่มอยู่ในเกณฑ์ดีเนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์

ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติยังขยายตัวแม้ หากดูตัวเลขนักท่องเที่ยวผ่านด่านตม.ไตรมาส 4 เกือบ 4 แสนคน แต่ก็น้อยลงจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะจีนที่ชะลอลงจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีน และนักท่องเที่ยวไทยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาดีขึ้นอัตราการเข้าพักโรงแรมเพิ่มเป็นร้อยละ 69.1 ส่วนอสังหาริมทรัพย์ทรงตัวเป็นผลจากสินค้าคงค้างอยู่ในระดับสูงเป็นช่วงระบายสต๊อก การก่อสร้างใหม่มีไม่มาก การลงทุนภาครัฐในภาคเหนือหดตัวร้อยละ 46.9 โดยเฉพาะงบลงทุนซึ่งไม่สามารถก่อสร้างได้ทั้งอ่างเก็บน้ำและถนน การใช้จ่ายภาครัฐก็เป็นการใช้จ่ายงบประจำยังไม่ใช่งบลงทุนที่ยังติดปัญหาพรบ.งบฯอยู่

ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนของรายได้จากการท่องเที่ยว ความจริงแล้วร้อยละ 85 มาจากคนไทยและร้อยละ 25 มาจากชาวต่างประเทศและนักท่องเที่ยวจีนก็เป็น 1 ใน 3 ของประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย เมื่อท่องเที่ยวจากจีนลดลงก็จะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวจากเกาหลีไต้ ไต้หวันมาแทน สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่พุ่งสูงถึงร้อยละ 80 นั้น ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด

“สำหรับผลกระทบกับกลุ่มธุรกิจบริการ ธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลงประมาณ 3 แสนคนนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมาตรการต่างๆ ออกมาและคุยกับสถาบันการเงินและผู้ให้สินเชื่อต่างๆ เพื่อช่วยดูแลภาคการท่องเที่ยวทั้งเรื่องของสภาพคล่อง พิจารณาเงินทุนหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการโรงแรมและธุรกิจนำเที่ยว ให้มีการปรับลดผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตจากเพดานต่ำร้อยละ 10 ให้ปรับลดลงอีกซึ่งมีผลแล้วไปจนถึง 31 ธ.ค.63 และมีการผ่อนผันสินเชื่อบุคคลชั่วคราวด้วยเพื่อให้มีผู้ประกอบการมีภาระลดลง สามารถประคองตัวได้ในช่วงที่มีปัญหาโรคระบาดนี้”นายโอรส กล่าวและชี้แจงด้วยว่า

ปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจภาคเหนือในไตรมาสต่อไป ต้องจับตาในเรื่องของสถานการณ์หนี้ครัวเรือน รายได้ภาคเกษตรและท่องเที่ยวที่เผชิญกับปัจจัยเสี่ยง รวมถึงแรงส่งจากภาครัฐที่มีแนวโน้มล่าช้าออกไป แนวโน้มด้านการท่องเที่ยวที่อาจ ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควัน และโรคไข้หวัดไวรัสโคโรน่า เรื่องของ พ.ร.บ. งบประมาณปี 63 ล่าช้า กระทบต่อความสามารถใน การเบิกจ่ายของภาครัฐ และความ เชื่อมั่นของภาคเอกชน ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปรัง ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีภาระหนี้ต่อเดือนสูง เพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการบริโภค (ผ่อนสั้น ดอกเบี้ยสูง).

You may also like

คณะแพทยศาสตร์ มช. แถลงข่าว 65 ปี ตอกย้ำบทบาทและความก้าวหน้า

จำนวนผู้