เตรียมถอดบทเรียนแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควันภาคเหนือ 21-22 พ.ค.รัฐมนตรี”ท็อป”บอกจนท.ทำงานหนักอย่าเปิดเฟสเห็นแล้วบั่นทอนกำลังใจ

เตรียมถอดบทเรียนแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควันภาคเหนือ 21-22 พ.ค.รัฐมนตรี”ท็อป”บอกจนท.ทำงานหนักอย่าเปิดเฟสเห็นแล้วบั่นทอนกำลังใจ

กระทรวงทรัพย์ฯเชิญทุกภาคส่วนร่วมถอดบทเรียนแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน 21-22 พ.ค.นี้ ยืนยันทำงานร่วมกับประชาชนมาโดยตลอด ยอมรับอ่อนประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ ความเข้าใจ ชี้ภารกิจดับไฟป่าถ่ายโอนให้อปท. แต่สาธารณชนไม่รับรู้ข้องใจเรื่องการใช้งบ แนะทำงานหนักอย่าเปิดเฟสจะบั่นทอนกำลังใจ แจงปีนี้สถานการณ์ไฟป่าหนักหน่วง 7 อาสาฯเสียชีวิต ย้ำงานดับไฟต้องมีทักษะและศาสตร์ที่ต้องได้รับการฝึกฝนอบรม

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.63 ที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน(ส่วนหน้า) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้,นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธ์พืช,นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ หน.ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพย์ฯ นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผวจ.เชียงใหม่,และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ร่วมประชุมและรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัดซึ่งมีการประชุมผ่านระบบทางไกลด้วย

นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพย์ฯในฐานะผอ.ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน(ส่วนหน้า)ทส. กล่าวรายงานผลการดำเนินงานว่า ในภารกิจต่อไปของกระทรวงฯ คือเฝ้าระวังและดับไฟจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน รวมถึงการดำเนินคดี ซึ่งเป็นนโยบายของกองทัพภาคที่ 3 และจังหวัดเชียงใหม่ โดยพื้นที่ที่ถูกเผาจะเข้าไปเร่งรัดดำเนินคดี และทุกจังหวัดจะเริ่มจัดระเบียบการเผาตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค.เป็นต้นไป สำหรับแนวทางจัดระเบียบจะเป็นการแบ่งพื้นที่และกระจายการเผา ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาตจากฝ่ายปกครอง หน.หน่วยในพื้นที่ทั้งไฟป่า อุทยานและป่าไม้ แต่พื้นที่ป่าจะห้ามเผาเด็ดขาด โดยเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าจะรอบริหารจัดการช่วงเดือนธ.ค.ถึงต้นปีหน้า นอกจากนี้จะติดตามตรวจสอบพื้นที่เพื่อขยายผลคดี โดยประสานกับฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครองซึ่งจะดำเนินการไปเรื่อยๆ จนถึงเดือนธ.ค.และเข้าสู่ช่วงเฝ้าระวังต่อไป

สำหรับการฟื้นฟูป่ากำลังสำรวจพื้นที่ไฟไหม้และพื้นที่ฟื้นฟู ซึ่งกรมป่าไม้จะดำเนินการ ซึ่งจะมีทั้งปลูกป่า ฟื้นฟูสภาพป่า โดยจะดำเนินการให้แผนแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนพ.ค.นี้ และเริ่มฟื้นฟูตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป ส่วนการจัดการเชื้อเพลิงยกเว้นจังหวัดน่านและแม่ฮ่องสอน โดยน่านที่เริ่มก่อน15 วัน ซึ่งได้เริ่มบริหารเชื้อเพลิงมาตั้งแต่กลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เพราะน่านได้เริ่มมาตรการห้ามเผาเด็ดขาดก่อนจังหวัดอื่นๆ

รองปลัดกระทรวงทรัพย์ฯในฐานะผอ.ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน(ส่วนหน้า)ทส.  กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะมีการทบทวนหลังการปฏิบัติงาน เป็นการถอดบทเรียนร่วมกับทุกหน่วยงานเพื่อที่จะได้ปรับแผนไว้สำหรับปีหน้า เพื่อเสนอครม.ต่อไป อย่างไรก็ตามไทม์ไลน์อาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศด้วย

ด้านนายนรินทร์ ประทวนชัย ทสจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในปีนี้เชียงใหม่มีจุดความร้อนสูงถึง 21,035 จุด และค่าpm2.5 เกินค่ามาตรฐานจำนวน 76 วัน ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากการดับไฟจำนวน 7 คนส่วนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติงานดับไฟป่าจำนวน 4 คน  ส่วนการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนประกาศประกาศจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวน 1,294 คดี เฉพาะคดีป่าไม้ทั้งป่าสงวนฯและป่าอนุรักษ์จำนวน 1,173 คดี

พ.ต.อ.ปิยะพันธ์ ภัทรพงศ์สิน รองผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.ที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินรับคดีพ.ร.บ.ป่าไม้และป่าสงวนซึ่งไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดเพียงร้อยกว่าคดี แต่อีก 1,173 ไม่พบตัวผู้กระทำผิดแต่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ได้กำชับให้ดำเนินการจนถึงที่สุดเพราะคดีมีอายุความนาน

“สำหรับพื้นที่ อ.อมก๋อย จากการตรวจโดยอากาศยานพบการบุกรุกป่า ซึ่งได้ตรวจยึดรถแมคโครที่เข้าไปทำนาขั้นบันได และสืบสวนหาผู้กระทำผิด โดยพื้นที่ดังกล่าวคาบเกี่ยวกับพื้นที่ในเขตจ.แม่ฮ่องสอน ส่วนที่ อ.เชียงดาวได้มีการจับกุมผู้กระทำผิดและสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดเพิ่มเติม เช่นเดียวกับ ต.ป่าแป๋ แม่แตงซึ่งเป็นเขตติดต่อกับ อ.เชียงดาวซึ่งได้มีการขยายผลไปยังผู้มีส่วนร่วม โดยขณะนี้มีกว่าหนึ่งร้อยคดีที่มีตัวผู้กระทำผิด นอกจากนี้ยังมีการสอบสวนกรณีที่มีผู้ใช้เฟสบุคเปิดรับบริจาค โดยใช้ภาพและข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริงได้รับเงินบริจาคกว่า 4 ล้านบาท แต่ได้ติดตาม สอบสวนพบว่ามีการนำเงินบริจาคไปช่วยเหลือเรื่องการดับไฟป่าจริงจำนวนไม่มาก และยังมีอีกหลายคน และองค์กรซึ่งจะมีการติดตามดูเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและป้องกันการเกิดข้อครหาภายหลัง โดยเฉพาะบุคคลธรรมดาที่เปิดรับบริจาค”รองผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ กล่าวชี้แจง

ขณะที่นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ทางกรมฯได้ให้เจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่ป่าที่ได้รับความเสียหายซึ่งดำเนินการร่วมกับกรมอุทยานฯ เพราะหลังจากนี้จะมีการฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกเผาไหม้ ซึ่งการดำเนินการจะทำร่วมกับเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศ 800 ชุมชนเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือมีประมาณ 500 ชุมชน สิ่งที่อยากเห็นมากคือภาพของชาวบ้าน ชุมชนมาช่วยราชการในการฟื้นฟูป่า

“อย่างไรก็ตามสำหรับพื้นที่ป่าที่มีการบุกรุกและทำให้ป่าเสื่อมโทรมจะมีการดำเนินคดีทุกราย ส่วนพื้นที่ผ่อนผันทำกินและเป็นแปลงที่ติดกับพื้นที่ป่าหากตรวจสอบพบว่ามีการบุกรุกเผาป่าเพื่อทำให้ป่าเสื่อมโทรมและเข้าไปทำกินก็จะเพิกถอนสิทธิ์ทำกินที่เคยได้รับด้วย หลังจากนี้ทางกรมฯจะให้เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่แม้จะไม่มีไฟป่า และหากพบว่ามีการขุดดิน ทำการเกษตรก็จะจับกุมทันที” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวและชี้แจงว่า

ทางกรมฯมีแผนที่จะฟื้นฟูสภาพป่า ซึ่งจริงๆ หากเป็นป่าที่ไฟไหม้ ป่าก็จะฟื้นสภาพเองได้ แต่ในกรณีที่เป็นการบุกรุกแผ้วถางทำกินและทำให้ป่าเสื่อมโทรม จำเป็นต้องมีการฟื้นฟูเพื่อให้ป่าฟื้นคืนสภาพก่อน โดยเริ่มตั้งแต่ฟื้นฟูสภาพดิน ปลูกไม้เปิดนำ และปลูกไม้ท้องถิ่น ซึ่งการฟื้นฟูป่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ป่ากลายสภาพมาสมบูรณ์ได้ดังเดิม และปีนี้พบว่าในหลายพื้นที่มีการบุกรุก แผ้วถางเตรียมพื้นที่ปลูก โดยเฉพาะพืชเชิงเดี่ยวจำนวนมาก

ส่วนทางด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.กล่าวว่า ในการถอดบทเรียนขอให้แต่ละจังหวัดนำประชาชนในพื้นที่มาร่วมประชุม ระดมความเห็นด้วย อย่ามีแต่หน่วยงานภาครัฐ มิเช่นนั้นจะมีดราม่าเกิดขึ้นไม่รู้จบ แต่ที่สำคัญคือจะได้นำไปปรับใช้ในปีหน้าด้วยการบริหารจัดการเชื้อเพลิงมีวิธีไหนบ้าง ให้หาวิธีการที่ดีที่สุด และหากสามารถทำให้ชาวบ้านได้รู้ว่าใบไม้มีคุณค่า จะได้ร่วมปกป้อง แต่หากว่าไม่มีวิธีที่ดีที่สุดและชาวบ้านมองว่าเชื้อเพลิงนั้นทำให้เขาลำบากก็จะเป็นปัญหาไม่สิ้นสุด

“สำหรับการเปิดรับบริจาคที่เป็นห่วงคือบุคคลธรรมดา ไม่ใช่เป็นในนามองค์กร เพราะสิ่งที่ตามมาคือคนถามและเข้าใจผิดว่าทำไมถึงเปิดรับบริจาค ส่วนราชการไม่มีงบฯสนับสนุนหรือ เพราะเงินรับบริจาคจำนวนมากควรจะมีการขึ้นทะเบียนกับราชการเพื่อให้ตรวจสอบได้ และอาจจะมีบางกลุ่มไปหาประโยชน์ซึ่งไม่เกี่ยวกับไฟป่า แต่เอารูปสัตว์ป่าไปโพสต์และเปิดรับบริจาค ซึ่งบางทีผมนั่งเฉยๆ ก็ถูกด่าว่ากระทรวงทรัพย์ฯ กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯไม่มีงบหรือถึงให้คนเปิดรับบริจาค ซึ่งผมก็เข้าใจว่าคนที่เข้ามาช่วยเพราะหวังดีและอยากช่วยเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับกระทรวงฯ แม้กระทรวงชี้แจงว่าไม่ได้เปิดรับบริจาคแต่การช่วยเหลือเป็นเจตจำนง ก็กลายเป็นดราม่ากันไปอีก ในตอนนี้ก็ยังมีบางองค์กรยังเปิดรับบริจาคทั้งๆ ที่ไฟดับแล้วก็เลยสงสัยจริงๆ”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ กล่าวและว่า

ในเรื่องการบริหารจัดการเชื้อเพลิงหลังจากนี้ อยากให้แต่ละจังหวัดประสานทุกส่วนและทุกอำเภอให้เวียนเผา อย่าใช้อำเภอที่อยู่ติดกันเผาพร้อมกัน เพราะพอเผาจำนวนมาก สภาพอากาศจะหมุนเวียนไม่ไหวและให้ประสานกับกรมอุตุฯ ด้วยถึงทิศทางลมและสภาพอากาศ ไม่ใช่ปล่อยให้เผาได้ทั้งจังหวัดตามอำเภอใจ ต้องยอมรับว่าที่สำคัญปีนี้เป็นปีที่หนักหนาสาหัสมาก โดยเฉพาะเชียงใหม่ถือว่าหนักสุดในรอบ 10 ปีก็ว่าได้ ดังนั้นการประชุมถอดบทเรียนที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 พ.ค.นี้ ให้แยกสิ่งที่ทำได้สำเร็จและไม่สำเร็จ ที่สำคัญต้องทำให้สาธารณชนว่ากระทรวงฯทำงานกันอย่างไร เพราะหลายคน หลายกลุ่มตำหนิว่าฝ่ายราชการคิดและทำเองไม่เคยฟังเสียงชาวบ้าน กลุ่มชาติพันธ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ กล่าวอีกว่า การทำงานของฝ่ายราชการต้องทำให้คนได้รับรู้ถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธ์ใด เช่นแม่ฮ่องสอน ว่าการทำงานของกระทรวงฯไม่ได้นั่งเทียนเขียนแต่เป็นการพูดคุยกับชุมชนก่อน ไม่ได้คิดเอง ทำเองไม่ฟังเสียงใคร การทำงานของกระทรวงฯต้องทำให้ทุกคนในประเทศไทยได้รู้ ขั้นตอนการเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อประชาสัมพันธ์ ใกล้ชิดกับประชาชนหลังจากนี้ จะต้องมีทีมเข้าพื้นที่ ซึ่งตนจะชี้แจงพลเอกประวิตร รองนายกรัฐมนตรีด้วย

นอกจากนี้จะต้องพูดเรื่องงบฯ ให้ชัดเจน เพราะเมื่อไฟป่าเกิดขึ้น ทุกคนจะหันมามองกระทรวงทรัพย์ฯทันที ผมเห็นใจเจ้าหน้าที่ทุกคน ตอนนี้ภารกิจได้รับการถ่ายโอนไปแล้ว เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นที่ติดกับป่าหรืออุทยานฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญ แต่ผมก็เข้าใจอีกเหมือนกันว่าผู้บริหารท้องถิ่นจะมีเป้าหมายและแนวคิดแตกต่างกันไป แต่พอเกิดไฟทุกคนจะพุ่งมาที่กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้หมด แต่สิ่งที่ถ่ายโอนไปให้ท้องถิ่นไปแล้ว ท้องถิ่นพร้อมที่จะตั้งงบประมาณ บุคลากรที่จะมาดูแลแค่ไหน

“การที่มีอาสาสมัครดับไฟเป็นเรื่องที่ดี เมื่อภารกิจถูกถ่ายโอนไปที่ท้องถิ่นจึงมีอาสาสมัครเกิดขึ้นมาก และอปท.จะต้องมีงบฯในการดูแลคุ้มครองอาสาสมัครด้วย การดับไฟไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องมีทักษะมีศาสตร์ วันนี้กระทรวงฯเปิดรับความเห็นของทุกฝ่าย และจากนั้นกระทรวงฯต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ โดยเฉพาะเอ็นจีโอทั้งหลายที่ไม่เคยจะชื่นชม ทำดีก็เสมอตัว พอพลาดก็ชี้นิ้วด่า ปีนี้เชียงใหม่เป็นจุดสนใจของหลายพื้นที่เหมือนกัน และในช่วงเวลาทำงานหนักผมขอแนะนำอย่าดูโซเซียลมาก จะทำให้หงุดหงิดและทำให้งานเสีย ต้องทำแบบรองฯประวิตรฯ ท่านไม่อ่านเฟสบุ๊คเลย เพราะอ่านแล้วจะอารมณ์เสีย ไม่มีกำลังใจทำงาน และที่สำคัญ ปีหน้าจะเป็นบทพิสูจน์อีก เพราะปีนี้เชื้อเพลิงหายไปมากพอสมควร คาดปีหน้าสถานการณ์จะไม่หนักเท่าปีนี้ แต่เอาเข้าจริงๆ ปีที่แล้วก็ได้ยินพูดกันแบบนี้ว่าปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้นการถอดบทเรียนปีนี้ผมให้ความสำคัญอย่างมากและต้องเชิญทุกภาคส่วนมาร่วมกันถอดบทเรียนด้วย”นายวราวุธ กล่าวชี้แจง.

 

You may also like

ทอท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในรัศมี 5 กม. จากสนามบินเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่

จำนวนผู้