แม้วันนี้ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย จะไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศ ติดต่อกันมานานกว่า 1 เดือนแล้ว แต่ยังวางใจไม่ได้ เพราะการระบาดครั้งนี้รุนแรง เกิดขึ้นทุกมุมโลก และสถิติผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก ( ณ วันที่ 25 มิ.ย.2563) ก็พุ่งไปถึง 9.4 ล้านคน ซ้ำยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้น่าเป็นห่วงว่าเมื่อไทยเปิดบินระหว่างประเทศ โอกาสของการหวนกลับมาระบาดรอบ 2 จะเกิดขึ้น และรุนแรงกว่าระลอกแรกหากสังเกต จะพบว่าสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น เมื่อไวรัสโคโรน่าเข้ามาถึงเมืองไทย ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2563 จนถึงช่วงระบาดหนักในเดือนมีนาคม-เมษายน ช่วงดังกล่าวเต็มไปด้วยข่าวลือ ข่าวลวง จนผู้คนเกิดความสับสน หลายคนตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อ และแชร์ กลายเป็นการซ้ำเติมวิกฤติที่เกิดขึ้น ซึ่งหากไม่มีการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม แน่นอนว่าข่าวลือ ข่าวลวงทั้งหลาย ย่อมกระพือหนักขึ้นเรื่อยๆครองพงษ์ ลังการ์พินธุ์ หรืออ้ายยีน จึงคิดว่าเขาน่าจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประกอบกับโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานอย่างรุนแรง ยิมมวยไทยที่เขาทำอยู่ ต้องปิดตัวลง กิจกรรมต่างๆ ชะงักหมด ทำให้เขามีเวลาอยู่กับบ้าน และคิดทำอะไรมากมาย หนึ่งในนั้นคือเข้าร่วมกับโครงการพลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤติ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ให้กับคนเหนือที่อู้คำเมือง อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเขาเขากับเพื่อน ได้ช่วยกันผลิตสื่อ เป็นรายการเสียงคำเมือง ชื่อรายการ “บอกมอกโควิด” แปลเป็นภาษากลาง ก็คือการจัดการกับโควิดอย่างสาแก่ใจ หรือคุยเรื่องโควิดให้ถึงแก่นนั่นเอง โดยนำเสนอในรูปแบบพอดแคสต์ หรือวิทยุออนไลน์ 45 ตอนๆ ละประมาณ 40 นาที ใน 1 ตอน จะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วง “โควิดสักกำบ๋อ” (โควิดสักทีดีไหม) ให้ความรู้เกี่ยวกับโควิด พูดถึงตัวไวรัสโคโรน่า การติด อาการ รวมถึงข่าว และประกาศจากทางราชการที่ยังคลุมเครืออยู่ ก็หาข้อมูลมาเล่าสู่ผู้ฟังให้ชัดเจนยิ่งขึ้นช่วงที่ 2 ชื่อ “แต๊ก่อคิงว่า” (จริงหรือเปล่า) หยิบข่าวที่เป็นกระแสในไลน์ หรือแชร์กันว่อนเน็ต มาพูด เช่น มีข่าวกินกระเทียมรักษาโควิด ก็นำมาพูดให้ฟังว่าจริงๆ แล้วในกระเทียมมีอะไรบ้าง สามารถรักษาโควิดได้จริงไหม อาจจะมีฤทธิ์แค่ป้องกันไม่ให้คนเป็นหวัดง่าย แต่ไม่ได้มีสรรพคุณในการรักษาโควิด บางครั้งก็เป็นข่าวจากต่างประเทศ ออกแนวฮาๆ หรือข่าวแปลก ก็นำมาเสนอเป็นเกร็ดความรู้ให้ผู้ฟังสำหรับช่วงสุดท้าย “บวกโตยฮาบ่ะ” (มาร่วมกันทำเรื่องดีๆ) เป็นการแชร์เรื่องราวของเพื่อนๆ ที่อยู่ในโครงการเดียวกันให้ผู้ฟังรับรู้ เพราะเป็นการช่วยเหลือกันในชุมชนในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ เป็นข่าวดี ที่เกิดจากการคิดดี ทำดี ทำให้คนฟังเกิดกำลังใจ ฟังแล้วต้องสู้ราเมศ สบายจิตร์ หรือ อ้ายหนุ่ม ดีเจคู่หูอ้ายยีน เล่าว่าใน 1 สัปดาห์ พวกเขาต้องเข้าห้องอัดเสียง 3 วัน จัดรายการ 4 ตอน คือวันจันทร์ กับวันพุธ ครั้งและ 1 ตอน และวันเสาร์ 2 ตอน โดยอ้ายยีนจะเป็นคนทำเนื้อหาของรายการ หาข่าว แปลข่าว เขียนสคริปต์ ทุกเนื้อหามีแหล่งที่มา ไม่ได้หยิบมาวิเคราะห์ หรือคุยเอง แต่เป็นเนื้อหาที่มีแหล่งอ้างอิง ทั้งจากต่างประเทศ และในไทย มาจากหน่วยงานที่เป็นของรัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ขณะที่ตัวเขาเอง ทำหน้าที่บันทึก ตัดต่อเสียงส่วนการนำเสนอในรูปแบบความเป็นพอดแคสต์ คนฟังอยากเปิดฟังเมื่อไหร่ก็ได้ แค่เปิดยูทูป ค้นหาคำว่าบอกมอกโควิด เวลาแชร์ก็ทำได้ง่าย แค่กดแชร์เข้าไปในกลุ่มไลน์ หรือบนหน้าเฟสบุ๊กเพจของตนเอง และตอนนี้มีคลื่นเชียงใหม่เรดิโอ เอฟเอ็ม 93.75 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นวิทยุเมืองฝาง นำไปออกอากาศด้วย ส่วนหมู่บ้านไหน อยากนำไปเปิดทางหอกระจายข่าว ทางผู้ผลิตก็ยินดี เพราะถือเป็นการเผยแพร่ความรู้ให้กว้างขึ้น“ผมคิดว่า ทุกวันนี้โควิดยังอยู่นะครับ และอาจอยู่ต่อไปอีกหลายเดือนถึงปีหน้า ต้องรอยาหรือวัคซีน แต่สิ่งที่พวกเราจะทำได้ระหว่างนี้คือการป้องกันตนเอง สวมหน้ากาก ปรับตัวในเรื่องของการทำงาน โดยคาถา 4 อย่างที่เราจะพูดเสมอในรายการ คือ พยายามอยู่บ้าน ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และรักษาระยะห่าง เป็น 4 อย่างที่คิดว่าคงจะเป็นอย่างนี้ไปอีกนาน” อ้ายหนุ่ม อธิบายและหากใครติดตาม “บอกมอกโควิด: พอดแคสต์คำเมือง ให้ความรู้สู้โควิด-19 เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป” ของ 2 หนุ่ม ก็จะคุ้นหูกับสิ่งที่พวกเขาเน้นย้ำบ่อยๆ ให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพราะโควิด-19 คล้ายเป็นตัวเร่งให้ทุกอย่างเกิดเร็วขึ้น เช่น เปลี่ยนจากการสื่อสารแบบเดิมมาเป็นออนไลน์ หรือจากอนาล็อก เป็นดิจิทัล เปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นแบบ New Normal เรียกว่า ถึงเวลาที่ทุกคนต้องรู้ ตระหนัก และปรับตัว เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ และรับมือกับโควิดได้อย่างรู้เท่าทัน.