ผู้ว่าฯเชียงใหม่แถลงยันผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 หญิงสาวที่สัมผัสใกล้ชิดชาวมาเลเซีย ผลตรวจเป็นลบ และให้กักตัวที่รพ.นครพิงค์ครบ 14 วันพรุ่งนี้(19 ส.ค.) ยอมรับมีการจับกุมแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาหลบหนีเข้าเมืองได้ที่อมก๋อย ให้สำนักงานสาธารณสุขฯตรวจหาเชื้อเบื้องต้นยังเป็นลบ ให้กักตัวจนครบ 14 วันก่อนส่งตัวดำเนินคดี ย้ำทุกมาตรการยังคุมเข้ม วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนกแต่ขอให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำ
เมื่อวันที่ 18 ส.ค.63 ที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยนายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ,นายแพทย์กิตติพันธ์ ฉลอม แพทย์เวชศาสตร์ป้องกันด้านระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และพ.ต.ท.ณัฐพล ชุ่มบัวตอง สารวัตรตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงสถานการณ์โควิด19 จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากที่พบข้อมูลว่าชายชาวมาเลเซียกลับจากเชียงใหม่แล้วตรวจพบเชื้อโควิด19 ในขณะที่แฟนสาวยังอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่
นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า กรณีที่มีรายงานข่าวจากกรมควบคุมโรค ว่า พบชาวมาเลเซียติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) หลังเดินทางกลับจากไทย โดยทางกรมควบคุมโรคได้ประสานไปยังจุดประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR national focal point) ของประเทศมาเลเซีย เพื่อขอทราบข้อมูลสำหรับสอบสวนโรค และตรวจสอบรายละเอียด มีรายงานเบื้องต้น คือ ผู้ติดเชื้อ 1 ราย เป็นชาย ชาวมาเลเซีย อายุ 46 ปี มีประวัติพักอาศัยอยู่ในประเทศไทยช่วงต้นเดือน มี.ค. ถึง 5 ส.ค. 2563 พักอาศัยอยู่ในคอนโดแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร หลังจากเดินทางกลับไปประเทศมาเลเซีย ได้เข้าพักในสถานที่กักกัน ไม่มีอาการผิดปกติ ได้ตรวจหาเชื้อครั้งแรกในวันที่ 5 ส.ค. 2563 ไม่พบเชื้อ และได้ตรวจครั้งที่สองในวันที่ 15 ส.ค. 2563 พบเชื้อก่อโรค COVID-19
ทางทีมสอบสวนโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับแจ้งจาก สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร พบว่ามีผู้สัมผัส 1 ราย เดินทางมาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ทางทีมสอบสวนโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ติดตามตัวผู้สัมผัสดังกล่าว ซึ่งผู้สัมผัสรายนี้ เป็นหญิง อายุ 36 ปี พักอาศัยอยู่ที่ร้านขายเสื้อผ้าของตนเอง ให้ประวัติว่าเป็นเพื่อนกับชายชาวมาเลเซีย โดยได้พบกันครั้งล่าสุดในวันที่ 5 ส.ค. 2563 ที่คอนโดที่ผู้ติดเชื้อเช่าไว้ที่กรุงเทพ ก่อนที่จะเดินทางกลับมาเลเซีย ผู้สัมผัสรายนี้เดินทางออกจากภูมิลำเนาวันที่ 16 ส.ค. 2563 มาพักที่คอนโดดังกล่าวที่กรุงเทพมหานคร 1 คืน เพียงคนเดียว ก่อนจะเดินทางไปสนามบินในช่วงเช้าของวันที่ 17 ส.ค. 2563 พร้อมกันเพื่อนอีก 2คน จากนั้นมีเพื่อนอีก 3 คน ไปเจอกันที่ สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเดินทางมาเที่ยว จ.เชียงใหม่ รวมทั้งสิ้น 6 คน เมื่อมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ มีเพื่อน 1 คน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.เชียงใหม่ ได้เช่ารถตู้มารับ และเดินทางไปพักที่ม่อนแจ่ม อ.แม่ริม ผู้สัมผัสรายนี้ทราบข้อมูลเบื้องต้นจากผู้ติดเชื้อแล้ว จึงได้มีการแยกพักคนละฝั่งกันเพื่อนคนอื่น และสวมหน้ากากตลอดเวลา
ผู้สัมผัสคนดังกล่าว ไม่มีอาการป่วย และได้เก็บตัวอย่างจากทางเดินหายใจ เพื่อตรวจหาเชื้อก่อโรค COVID-19 ในวันที่ 18 ส.ค. 2563 ซึ่งผลตรวจไม่พบเชื้อ ขณะนี้ผู้สัมผัสรายนี้ อยู่ในการดูแลของ โรงพยาบาลนครพิงค์
สำหรับ เหตุการณ์การจับกุมแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับแจ้งจาก ตม.ว่ามีการจับกุมแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายจำนวน 43 คน ที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จึงได้มีการจัดตั้งสถานที่กักกัน เพื่อกักกันแรงงานต่างด้าวทั้ง 43 คน ณ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 17 ส.ค. 2563 เป็นเพศชาย 26 คน และเพศหญิง 17 อายุตั้งแต่ 6-42 ปี ได้มีการตรวจคัดกรองแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 43 คน ไม่พบผู้ป่วย และได้เก็บตัวอย่างทุกคน เพื่อส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค COVID-19 ขณะนี้กำลังรอผลตรวจ และจะตรวจซ้ำอีกครั้งในวันที่ 11-13 ของการกักตัว
“เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกและอาจแชร์ข่าวลวงได้ ทางจังหวัดจึงได้มีการแถลงข้อเท็จจริงให้ทราบ และขอให้พี่น้องชาวเชียงใหม่มั่นใจในกระบวนการตรวจคัดกรอง ทางจังหวัดยังทำอยู่เสมอทั้งชายแดนและการดำเนินงานของโควิดหมู่บ้าน และที่สำคัญสุดคือการระวังตัว โดยใส่หน้ากาก ล้างมือ ทำความสะอาด เว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่แออัดก็จะทำให้ทุกคนปลอดภัยได้”ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวชี้แจง
สำหรับการติดตามเพื่อไม่ให้การ์ดตกก็ยังดำเนินการ สิ่งที่พบส่วนใหญ่ยังมีการวัดไข้ สวมหน้ากาก แต่ยอมรับว่ามีบางกิจกรรมที่เริ่มขาดความระมัด ระวังในการใส่หน้ากาก ก็ได้กำชับผู้ที่มีหน้าที่ไปกำชับสถานประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำโซน หากประชาชนพบเจอสามารถโทรศัพท์แจ้งเบาะแสได้
ทางด้านน.พ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในวันนี้ได้มีการตรวจหลังได้รับแจ้งและติดตามตัว เก็บข้อมุลทั้งการเดินทางและเพื่อน รถตู้ และตรวจหาเชื้อซึ่งไม่พบเชื้อเป็นการตรวจวันที่13 ที่สัมผัสสูง ซึ่งก็เหลืออีกหนึ่งวันหากไม่มีอาการไข้หรือผิดปกติใดๆ ก็จะถือว่าปลอดภัยรวมทั้งเพื่อนๆ ทั้งหมดด้วย โดยในส่วนของเพื่อนๆ ให้ก้กตัวอยู่ในที่ตั้งเพราะต้องให้ผู้เสี่ยงสูงปลอดภัยก่อน
กรมควบคุมโรคให้แต่ข้อมูลชื่อ แต่ข้อมูลประกอบอื่นมีความสำคัญเช่นกัน ในกรณีที่มีผู้ป่วยหรือหลังได้ประวัติเมื่อเชื้อมโยงกับชัยชนะจะได้ข้อมูลกับผู้ที่สัมผัสได้เพิ่ม เพราะฉะนั้นการลงข้อมูลไทยชนะจึงมีความจำเป็นในการสืบสวนสอบสวนโรค
จากข้อมูลผู้ชายชาวมาเลเซียรายนี้ อยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค.และกลับไปมาเลเซียวันที่ 5 ส.ค.และเข้าสถานกักกันซึ่งตรวจไม่พบเชื้อแต่มาตรวจพบเชื้อในวันที่ 15 ส.ค.ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อนอกประเทศไทย เพราะอยู่ในประเทศไทยระยะเวลายาวนานกลับไม่พบเชื้อ
ทั้งนี้ชุดปฏิบัติการพิเศษ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 สกัดจับรถยนต์กระบะ 3 คัน ที่ลักลอบขนแรงงานต่างด้าว 43 คน เข้ามาในฝั่งไทย ขณะที่ขับรถผ่านบริเวณเส้นทางบ้านแม่เทย - บ้านแม่ตื่น ในตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นแรงงานชาย 27 คน และหญิง 16 คน โดยทั้งหมดรับสารภาพว่า เดินทางมาจากเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมาร์ หลบหนีเข้าทางช่องทางธรรมชาติในเขตอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และมีการติดต่อผ่านนายหน้า (คนละ 12,000 บาท) ให้นำรถมารอรับจากอำเภอแม่สอด วิ่งผ่านอำเภอแม่ระมาดและอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มาทางแยกแม่สะลิดน้อย เข้ามาในเขตตำบลแม่สองและตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อที่จะเดินทางต่อไปขายแรงงานที่ กรุงเทพมหานคร กำลังพลของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 จึงได้นำตัวทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่ตื่นเพื่อดำเนินคดีต่อไป
นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาตามกม.จะผ่านทางด่านซึ่งตม.จะเป็นผู้ดูแล แต่ในส่วนของพวกลักลอบเข้ามา ชายแดนจะใช้เครือข่ายทหารตำรวจและผู้นำท้องที่ ตรวจสอบแนวชายแดนทั้งแนวธรรมชาติ เมื่อพบคนต่างด้าวเข้ามาจะผลักดันออกไป ส่วนการตั้งด่านตรวจในจุดตรวจสำคัญทั้งเชียงดาว ไชยปราการและรอยต่ออำเภอต่างๆ ก่อนเข้าเมือง และใช้ชุดโควิดหมู่บ้านคอยตรวจสอบว่ามีแรงงานต่างด้าวในพื้นที่หายจากพื้นที่นานๆ แล้วกลับเข้ามาให้ตรวจสอบและให้เข้าสถานกักกัน
รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า สำหรับแรงงานที่ขึ้นทะเบียนไว้ 8 หมื่นกว่าราย 3 สัญชาติ พม่า ลาวและกัมพูชา มากที่สุดคือพม่า ที่มาทำบัตรต่างด้าวไว้ ขณะนี้ได้มีการขยายเวลาขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ซึ่งที่มาต่อใบอนุญาตแล้ว 3 หมื่นกว่าราย และไม่แน่ชัดว่า 4 หมื่นกว่ารายที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียนจะกลับบ้านออกนอกประเทศ หรือยังอยู่ในประเทศและไม่มีนายจ้าง ซึ่งทางราชการได้ขยายเวลาการต่อใบอนุญาตออกไปอีก ส่วนอาชีพที่แรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติขึ้นทะเบียนไว้มีทั้งภาคบริการ ซึ่งรวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยว และการเกษตร.