เดินหน้าปฏิบัติการวันฟ้าใสไร้ฝุ่นควัน ”Northern Haze Free Day In Action” ระยะ 3หาแนวทางควบคุมจัดการป้องกันฝุ่นควัน

เดินหน้าปฏิบัติการวันฟ้าใสไร้ฝุ่นควัน ”Northern Haze Free Day In Action” ระยะ 3หาแนวทางควบคุมจัดการป้องกันฝุ่นควัน

สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network: RUN) เดินหน้าจัดประชุมปฏิบัติการวันฟ้าใสไร้ฝุ่นควัน ”Northern Haze Free Day In Action” ภายใต้โครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน ระยะที่ 3 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) เพื่อร่วมหาแนวทางการควบคุม จัดการและป้องกันภาวะหมอกควันสู่การสร้างรากฐานข้อมูลช่วยภาครัฐตัดสินใจเชิงนโยบายแก้ปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ณ NSP Rice Grain Auditorium อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้ประสานงานหลักเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network: RUN) จัดพิธีเปิดการประชุมปฏิบัติการวันฟ้าใสไร้ฝุ่นควัน “Northern Haze Free Day In Action” ภายใต้โครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน ระยะที่ 3 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมเชิญส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภาคเอกชน องค์กรอิสระ และอีก 8 จังหวัดในเขตพื้นที่ภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควัน ประกอบด้วย จังหวัดลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา และตาก ร่วมแถลงข่าวปัญหาหมอกควันและแนวทางการแก้ไข ก่อนรับฟังความก้าวหน้าผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในเรื่องต่าง ๆ ประชุมเชิงปฏิบัติการและสนทนารูปแบบกลุ่ม (Workshop & Focus group) พร้อมรับฟังแผนการดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 3

รองศาสตราจารย์ ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง ผู้อำนวยการแผนงานประเทศไทยไร้หมอกควัน กล่าวในฐานะผู้ดำเนินโครงการว่า โครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน (ภาคเหนือ) มุ่งเน้นขยายผลการดำเนินโครงการสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริงและยั่งยืนโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในรูปแบบสี่ประสาน (Quadruple Helix) ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน เพื่อสร้างคนและชุมชนของประเทศให้พร้อมเผชิญหน้ากับผลกระทบจากปัญหาภาวะหมอกควันรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น โดยมีงานวิจัยพื้นฐานที่สามารถเก็บข้อมูลด้านการจัดการปัญหา   หมอกควันได้อย่างหลากหลายมิติทั้งภายในประเทศและรอบประเทศอาเซียน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนได้   อีกด้วย

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวดำเนินงานมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี สะสมองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ผ่านการศึกษา วิเคราะห์สาเหตุ ผลกระทบ เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างหลากหลาย อาทิ การสร้างแบบจำลองเพื่อพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า การปรับเปรียบห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรเพื่อลดปัญหาฝุ่นควัน รวมถึงการบริหารจัดการฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมต่อยอดและขยายผลงานวิจัยเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดยมุ่งเป้าลดปัญหาฝุ่นควันในประเทศไทยพร้อมนำเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการป้องกัน ตรวจสอบคุณภาพการแพร่กระจายของหมอกควัน รวมถึงติดตามคุณภาพอากาศของประเทศไทย พร้อมขยายขอบเขตพื้นที่นำร่องดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ภาคเหนือให้มีความเข้มแข็ง

สำหรับแผนการดำเนินงานระยะที่ 3 (ปีงบประมาณ 2563) มุ่งเน้นการขยายพื้นที่การดำเนินงานผ่านการทำงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อต่อยอดผลงานวิจัยในการจัดทำนโยบายสำหรับการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนผ่าน 3 โครงการย่อย ได้แก่ การพัฒนาระบบพยากรณ์คุณภาพอากาศและแอปพลิเคชัน เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย, การบริหารจัดการหมอกควันในเขตพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย

และการวิเคราะห์เชิงนโยบายและแผนในการจัดการปัญหาหมอกควันในเขตพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด โดยหวังเกิดการพัฒนาความแม่นยำแบบจำลองคุณภาพอากาศ สามารถนำแบบจำลองไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ผ่านการสร้างแอปพลิเคชันเพื่อจัดการปัญหาหมอกควัน, การขยายผลพื้นที่ดำเนินงาน ติดตามและประเมินรูปแบบการใช้ที่ดินอย่างต่อเนื่อง การเผยแพร่องค์ความรู้ในระดับพื้นที่และระดับนโยบายผ่านกลุ่มเกษตรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ, เกิดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตร พร้อมมีแผนรองรับในการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสร้างมาตรฐานในการขนส่งสินค้าเกษตรและการจัดตั้งวิสาหกิจแก่ชุมชนและเกษตรกรจนถึงปลายน้ำ รวมถึงการสร้างนโยบายการจัดการปัญหาฝุ่นควันในระดับประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยไร้หมอกควันอย่างยั่งยืน.

You may also like

ทอท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในรัศมี 5 กม. จากสนามบินเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่

จำนวนผู้