จังหวัดเชียงใหม่ อนุญาตให้เปิดร้านอาหาร “Hanawa” พร้อมสั่งการ 25 อำเภอจัดทำแผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียง/ผู้ป่วยติดบ้าน และผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชานุเคราะห์ และพระบรมวงศานุวงศ์ เข้ารับการฉีดวัคชีนฯ ในห้วงเดือนกรกฎาคม 2564
วันนี้ (23 มิ.ย. 2564) ที่ศูนย์บัญชาการสถานการณ์การระบาดโรค Covid-19 จังหวัดเชียงใหม่ นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ระลอกเดือนเมษายนจังหวัดเชียงใหม่ประจำวัน
ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า วันนี้จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 2 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเป็น 4,136 ราย รักษาหายแล้ว 4,086 ราย ยังคงมีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกประเภท จำนวน 24 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลรัฐ 19 ราย โรงพยาบาลเอกชน 5 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมของจังหวัดเชียงใหม่ยังอยู่ที่ 26 ราย ขณะที่กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวอยู่นั้น แยกเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) 15 ราย อาการปานกลาง (สีเหลือง) 7 ราย อาการค่อนข้างหนัก (สีส้ม) 2 ราย และไม่มีผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง)
การตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้สัมผัสหรือผู้เสี่ยงสูง เมื่อวานนี้ (22 มิ.ย. 2564) ตรวจไป 757 ราย พบเชื้อเพียง 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.26 โดยปัจจัยเสี่ยงยังเป็นการนำเข้ามาจากต่างจังหวัด ช่วงต่อมาจะเป็นการพบจากการสัมผัสในครอบครัว และในสถานที่ทำงานตามลำดับ ข้อมูลสำคัญคือผู้ที่เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว มักจะไม่ลงทะเบียน CM CHANA และไม่ทำการกักตัวตามมาตรการ จึงทำให้มีผู้สัมผัสที่ติดเชื้อตามมาอีกมาก
เช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2 รายของวันนี้ รายแรก CM 4128 เป็นหญิง อายุ 30 ปี มีภูมิลำเนาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และรายที่ 2 CM 4219 เป็นหญิง อายุ 36 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นเพื่อนกัน โดยในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา CM 4128 ได้อาศัยและสัมผัสกับบิดาซึ่งขายของอยู่ที่ตลาดมหานาค กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดของกรุงเพทฯ โดยวันที่ 16 มิถุนายน พ่อเริ่มมีอาการ วันที่ 18 มิถุนายน CM 4219 เดินทางไปรับที่กรุงเทพฯ ด้วยรถยนต์ส่วนตัว วันที่ 19 มิถุนายน เดินทางกลับเชียงใหม่ วันที่ 20 มิถุนายน โดยทั้งสองรายได้กักตัวอยู่ที่บ้าน CM 4128 เริ่มมีอาการไข้ ไอ และเจ็บคอ วันที่ 21 มิถุนายน CM 4219 เริ่มมีไข้ และวันที่ 22 มิถุนายน ทราบข่าวว่าบิดาของ CM 4128 ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ ติดเชื้อโควิด ทั้งสองรายจึงเข้าไปตรวจที่โรงพยาบาลนครพิงค์ พบผลเป็นบวกทั้งคู่ ในเบื้องต้นพบผู้สัมผัสใกล้ชิดเป็นผู้สัมผัสในครอบครัวของ CM 4219 จำนวน 2 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามตัวมาตรวจ ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำยังไม่มี เนื่องจากมีการกักตัวเองที่บ้านเมื่อมาถึงเชียงใหม่ สำหรับคลัสเตอร์สถาบันกวดวิชา วันนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม แต่ยังคงมีการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงสูงอย่างใกล้ชิดต่อไป
ในส่วนยอดการจองวัคซีน ขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ มีรายชื่อผู้ที่จองคิวฉีดวัคซีน ทั้งระบบหมอพร้อม กำแป๋งเวียง และหน่วยงานองค์กร 820,183 คน คิดเป็นร้อยละ 68 ของจำนวน 1,200,000 คน ของจำนวนประชากรเป้าหมายร้อยละ 70 ที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ โดยขณะนี้มีการฉีดวัคซีนให้ชาวเชียงใหม่แล้ว จำนวน 161,414 โดส เป็นจำนวน 116,104 คน
ด้านนายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกคำสั่งให้ปิดสถานที่เสี่ยงเป็นการชั่วคราว โดยได้ปิดร้าน “Hanawa” ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 185/3 ถนนทิพย์เนตร ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อในไทม์ไลน์ และมีคำสั่งให้เจ้าของร้านกักตัวเป็นเวลา 14 วัน พร้อมให้ทำความสะอาดร้านด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคโควิด-19 เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน ซึ่งขณะนี้ทางร้าน “Hanawa” ได้ดำเนินการทำความสะอาดร้านด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว และพบว่าผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของพนักงานทั้งหมดของร้าน ผลเป็นลบทั้งหมด ดังนั้นเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทางเศรษฐกิจ จึงเห็นควรอนุญาตให้ร้านดังกล่าวเปิดก่อนกำหนดได้ โดยให้ปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและทีมสอบสวนโรคอย่างเคร่งครัด หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ตามมตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 52 แห่ง พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการให้ทั้ง 25 อำเภอ จัดทำแผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียง/ผู้ปวยติดบ้าน และผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชานุเคราะห์ และพระบรมวงศานุวงศ์ เข้ารับการฉีดวัคชีนฯ ในห้วงเดือนกรกฎาคม 2564 โดย ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มงานความมั่นคง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กำหนดให้ทุกอำเภอดำเนินการตรวจสอบข้อมูลความต้องการในการเข้ารับการฉีดวัคซีนฯ และความต้องการในการสนับสนุนอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อจัดทำแผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฯ โดยให้อำเภอบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ฯลฯ ในการพบปะกลุ่มเป้าหมาย ญาติ หรือผู้ดูแลผู้ป่วยทุกราย เพื่อประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์ของการฉีดวัคซีนฯ และลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนฯ พร้อมทั้งรายงานผลให้จังหวัดเชียงใหม่ทราบ ภายในวันที่ 25 มิถุนายน 2564 เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนฯ (White List) ต่อไป.