รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ประกาศปิดรพ.สนาม “บ้านธรรมปกรณ์” เรียบร้อยแล้ว หลังสถานการณ์โควิดฯ คลี่คลายลง เผยยอดผู้ป่วยคลัสเตอร์นี้กว่าร้อยราย ล่าสุดหายป่วยทั้งหมด คงเหลือผู้ป่วยในความดูแล เพียง 1 ราย ส่งเข้ารักษาตัวที่ รพ มหาราช คาดอีกไม่เกิน 1 สัปดาห์จะหายเป็นปกติ
ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยถึงกรณีคลัสเตอร์โควิด-19 บ้านพักคนชรา “บ้านธรรมปกรณ์” ว่าสืบเนื่องจากเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา (25 ตุลาคม 2564) รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ได้รับแจ้งว่าพบผู้ติดเชื้อโควิดจากบ้านธรรมปกรณ์ จำนวนมาก เบื้องต้นทราบว่าเป็นผู้สูงอายุ จำนวน 16 ราย มีอาการไอ และมีน้ำมูก จึงได้ทำการคัดแยกตัวแล้วส่งตรวจ RT-PCR พบผลเป็นบวกทั้งหมด ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้คาดการณ์ว่าอาจจะมีการระบาดที่รุนแรงเกิดขึ้นในบ้านธรรมปกรณ์ ตามมาอีกอย่างแน่นอน ทีมแพทย์ จึงได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อทำการประเมินสถานการณ์ พร้อมให้คำแนะนำในการคัดแยกตัวผู้ติดเชื้อ และรีบจัดการรักษาให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วน เพราะเป็นกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุซึ่งต้องการการดูแลเป็นกรณีพิเศษ ระหว่างที่ลงพื้นที่ได้มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในบ้านธรรมปกรณ์ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการจัดสรรพื้นที่ให้ทางรพ.มหาราชฯ เข้าไปจัดตั้งรพ.สนาม ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีในวันนั้นเลย (25 ตุลาคม 2564)
“การจัดตั้่ง รพ.สนามฯ ในบ้านธรรมปกรณ์ มีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อทำการสืบค้นหาผู้ที่เจ็บป่วย รวมถึงให้การรักษาผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่งมีความจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะหากเกิดกรณีผู้สูงอายุติดเชื้อจำนวนมากในคราวเดียวกัน จะเป็นการยากมากที่จะนำตัวผู้ติดเชื้อเข้าสู่โรงพยาบาลได้ทั้งหมด
จากการลงพื้นที่ ณ เวลานั้นได้มีการตรวจพบว่ามีผู้ที่ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอีกจำนวนมาก เป็นผู้สูงอายุ รวมทั้งสิ้น 90 ราย เจ้าหน้าที่ติดเชื้ออีก 14 ราย ญาติของบุคลากรอีก 3 ราย รวมผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 107 ราย ทีมแพทย์ฯ จึงได้จัดให้ทุกรายพักรักษาตัวอยู่ในบ้านธรรมปกรณ์ทั้งหมด สำหรับเจ้าหน้าที่บ้านธรรมปกรณ์ที่ยังไม่ติดเชื้อ ทางรพ.มหาราชฯ ก็ได้ขอความร่วมมือให้จำกัดพื้นที่ โดยที่ไม่ให้ออกไปไหน เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ต้องทำการกักกันโรคไว้ในบ้านธรรมปกรณ์ทั้งหมด”
ผศ.นพ.นเรนทร์ เปิดเผยอีกว่า หลังจากวันที่ 25 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ (24 พฤศจิกายน 2564) สำหรับคลัสเตอร์บ้านธรรมปกรณ์ เราเหลือผู้ป่วยในความดูแลอยู่เพียง 1 ราย ซึ่งรายนี้เป็นรายที่ตรวจพบภายหลังประมาณ 5-6 วันที่ผ่านมา ทำให้การรักษาอาจจะต้องยืดออกไปอีกประมาณเกือบ 1 สัปดาห์ และจากสถานการณ์คลัสเตอร์ฯ ที่คลี่คลายลงนี้ เราจึงตัดสินใจว่าควรจะปิดโรงพยาบาลสนามบ้านธรรมปกรณ์ แล้วนำผู้ป่วยที่เหลือรายนี้ ส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จนกว่าอาการจะกลับสู่ภาวะปกติ
ผู้อำนวยการรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยฯ ในบ้านธรรมปกรณ์ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมาว่า เราได้ระดมทีมแพทย์และพยาบาลหลายชีวิต เข้าไปทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ สำหรับการรักษาได้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ และโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ แก่ผู้ป่วย ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบ ชนิดที่ให้ทางหลอดเลือดดำ ยามีราคาที่ค่อนข้างสูง ได้รับการสนับสนุนมาจากกรมการแพทย์ ยาเหล่านี้มีประสิทธิภาพที่ดีมาก ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยไม่รุนแรงถึงขั้นอาการหนัก (เคสสีส้ม หรือสีแดง)
“ประเด็นสำคัญ ที่ต้องพูดถึงคือ การที่ผู้ติดเชื้อฯ ในคลัสเตอร์บ้านธรรมปกรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ พบว่ามีอาการป่วยไม่ถึงขั้นรุนแรงมากนั้น เป็นผลมาจากการที่ผู้ป่วยเหล่านี้เคยมีประวัติได้รับวัคซีนป้องกันโควิดฯ มาก่อนแล้ว โดยเมื่อประมาณ 2-3 เดือนที่ผ่านมาก่อนเกิดคลัสเตอร์ขึ้น หน่วยสร้างเสริมสุขภาพ ของโรงพยาบาลมหาราชฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อทำการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุทั้งหมดทุกราย โดยเป็นวัคซีนสูตรแอสตร้าเซนเนกา 2 เข็ม ทำให้เมื่อมีการติดเชื้อ ส่วนใหญ่อาการเจ็บป่วยจึงไม่รุนแรง ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยสูงอายุเพียง 14 รายเท่านั้น ที่ต้องย้ายเข้าไปยังโรงพยาบาล เพราะว่ามีอาการเหนื่อย
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายที่ในจำนวนผู้ป่วยร้อยกว่ารายในครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งจากการประเมินอาการ เข้าใจว่าผู้ป่วยน่าจะเสียชีวิต ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโควิด 19 โดยตรง น่าจะเกิดจากภาวะอื่นที่เป็นโรคประจำตัวร่วมด้วย” ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ กล่าว