เทศบาลนครเชียงใหม่เตรียมจัดงบกว่า 4 ล้านบาทเพื่อสร้างสวนสาธารณะตลาดต้นลำไย ให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ คาดอีก 3 เดือนการออกแบบสมบูรณ์และจัดซื้อจัดจ้างหาผู้ดำเนินการได้
เมื่อเร็วๆ นี้ที่สวนสาธารณะตลาดต้นลำไย (ตรงข้ามตลาดดอกไม้) นายจิโรจน์ โรจนเสาวภาคย์ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่พร้อมด้วย ดร.นิเวศน์ พูนสุขเจริญ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ นักวิจัยโครงการ Chiang Mai Learning City ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว นางวิยะดา เจริญศุข ว่องวิกย์การ สถาปนิก บริษัทสถาปนิก 49 (เชียงใหม่) จำกัด และ นายศุภวุฒิ บุญมหาธนากร สถาปนิกใจบ้านสตูดิโอ ได้ร่วมกันแถลงข่าวความก้าวหน้าการพัฒนาสวนสาธารณะตลาดต้นลำไย ซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว CTRD มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และชาวย่านกาดหลวง-ต้นลำไย ร่วมกันขับเคลื่อนโดยจัดตั้งเป็นคณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงานขับเคลื่อน เพื่อการพัฒนาสวนสาธารณะตลาดต้นลำไย
นอกจากนี้ยังได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา ซึ่งประกอบไปด้วย นาย จุลทัศน์ กิติบุตร ศิลปินแห่งชาติ สถาปัตยกรรม (ร่วมสมัย) นายปราการ ชุณหพงษ์ กรรมาธิการสถาปนิกล้านนาสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์ นาย ธีรยุทธ กุคำใส สถาปนิกชำนาญการ ศ.ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณะบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ.ศ.บรรจง สมบูรณ์ชัย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้,นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่,นางสาว อจิรภาส์ ประดิษฐ์ ,นายยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกและผู้บริหาร บริษัทฉมา จำกัดกรรมาธิการสถาปนิก ผังเมืองล้านนาและมีคณะกรรมการอำนวยการ นำโดยกลุ่มเจ้าหน้าที่เทศบาลในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนชาวย่านกาดหลวง-ต้นลำไย มูลนิธิส่งเสริมปุงเถ่ากง ตัวแทนสภาลมหายใจเชียงใหม่ เครือข่ายเชียงใหม่ เขียว สวยหอม ใจบ้านสตูดิโอ เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ กลุ่มสเก็ตบอร์ด และมีนักวิจัยจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว มช. ร่วมเป็นเลขนุการและคณะขับเคลื่อน
ดร.นิเวศน์ พูนสุขเจริญ กล่าวว่า สวนสาธารณะตลาดต้นลำไยที่จะเริ่มดำเนินการนี้ เกิดจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ละแวกนี้ ซึ่งได้เปิดแถลงข่าวโครงการครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมาและได้มีการออกแบบสวนฯเพื่อให้ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ ซึ่งภาคประชาสังคมต้องการสวนสาธารณะ ต้องการพื้นที่สีเขียว เพิ่มปอดและลด pm2.5 จึงทำให้เกิดแรงผลักดันจากหลายภาคส่นวมาร่วมกันคิดและให้เกิดขึ้นจริง
ความสำคัญของพื้นที่นี้จากการพูดคุยและล่องเรือในลำน้ำปิงจะเห็นความสำคัญของแม่น้ำได้เริ่มจางหาย จึงเห็นควรให้คนกับธรรมชาติเป็นมิตรและใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งพื้นที่ที่นำเสนอมีบริบทการใช้สอยเป็นพื้นที่พักผ่อนและออกกำลังกาย
ด้านนายจิโรจน์ โรจนเสาวภาคย์รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า เทศบาลนครเชียงใหม่เล็งเห็นว่าพื้นที่นี้น่าจะเป็นประโยชน์กับชาวเชียงใหม่และเป็นปอดแห่งใหม่ที่ดีที่สุด เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ด้วย โดยมีทางสถาปนิกล้านนา กลุ่มใจบ้านและสถาปนิก 49 เครือข่ายภาคประชาสังคมมาร่วมกันพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นสวนสาธารณะที่มีคุณภาพ ซึ่งแนวคิดนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2563 โดยกรอบแนวคิดคือต้องการให้ทุกภาคส่วนมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำและพัฒนาออกมาในรูปแบบกรรมการ มีการประชุมกันไปหลายรอบจนได้บทสรุปว่าเลือกพื้นที่แห่งนี้เป็นสวนสาธารณะ โดยมีบริษัทเอกชนและสถาบันการศึกษามาช่วยออกแบบจนเกือบจะเสร็จแล้ว ซึ่งรวมๆ ก็ใช้ระยะเวลาปีกว่าก็น่าจะตกผลึกได้ และแผนงานต่อไปในอนาคตเมื่อออกแบบงานก่อสร้างออกมาสมบูรณ์แล้ว ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ก็จะนำเข้าสู่แผนงบประมาณปี 2565 ซึ่งตั้งงบฯไว้ประมาณ 4 ล้านกว่าบาท แต่ทั้งนี้คงต้องรอให้แบบสมบูรณ์ก่อนอีกประมาณ 3 เดือนก็จะเริ่มกระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างได้
อย่างไรก็ตามในการแถลงข่าวครั้งนี้ ทางตัวแทนกลุ่มงานจราจรตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ได้เสนอแนะในเรื่องการออกแบบเพิ่มเติม โดยเฉพาะจุดเชื่อมต่อเลียบทางเดินแม่น้ำปิงตั้งแต่สะพานนวรัฐ ผ่านบ้านพักผู้พิพากษา ผ่านสำนักงานตำรวจจราจรซึ่งจะมีช่องว่างทางเดินได้ โดยเกรงว่าในช่วงที่มีงานกิจกรรม ประเพณีคนจะใช้เส้นทางลัดเลาะไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะหลังบ้านพักผู้พิพากษาที่มีต้นไม้ใหญ่และมืด จึงเสนอให้มีทางเข้า-ออกสวนสาธารณะเพียงทางเดียวและทำรั้วกั้นที่จะเชื่อมไปยังพื้นที่อื่นด้วยเพื่อความปลอดภัย เพราะพื้นที่เชื่อมต่อเป็นหน่วยงานราชการควรจะมีรั้วหรือประตูที่ชัดเจน
ทางด้านนายชัชวาล ทองดีเลิศ ที่ปรึกษาฯได้เสนอว่า เมื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะ จะต้องให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เปิดและให้ประชาชนมีส่วนในการดูแลเพื่อให้เกิดความสมดุล ไม่อยากให้มีเวลาเปิด-ปิดแบบราชการ ต้องให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนแถวนี้ว่าเป็นอย่างไร วิถีตลาด วิถีคนริมแม่น้ำปิง ส่วนพื้นที่ที่ออกแบบให้เป็นลานสเกตบอร์ดก็ควรจะมองเปิดพื้นที่ดังกล่าวให้คนทุกเพศวัยได้ใช้ประโยชน์ร่วมด้วยเพื่อความสุขของคนเชียงใหม่ เป็นสวนสาธารณะที่ตอบโจทย์ทุกวิถีคนทุกเพศ ทุกวัยได้.