รายงานพิเศษ น้ำโขงเปลี่ยนทิศ:วิถีชีวิตเปลี่ยนไป

รายงานพิเศษ น้ำโขงเปลี่ยนทิศ:วิถีชีวิตเปลี่ยนไป

รายงานพิเศษ

น้ำโขงเปลี่ยนทิศ:วิถีชีวิตเปลี่ยนไป

กว่า 10 ปีที่มีการถกเถียง โต้แย้งและเรียกร้องให้ร่วมกันหาทางออก หลังจากพบความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและนิเวศน์วิทยาในแม่น้ำโขง ซึ่งไหลผ่าน 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ล่าสุดสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่พูดคุยกับหน่วยงานและองค์กรที่ทำงานในพื้นที่ รวมถึงชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงทางด้านอ.เชียงแสน และเชียงของ จ.เชียงราย

สหรัฐฯเผยตั้งแต่ปี 2552-2564 ทำงานร่วมกับภาคีลุ้มน้ำโขงเพื่อมอบความช่วยเหลือ 4,300 ล้านดอลลาร์

 

นิโคล ฟ็อกซ์ โฆษก (ฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม) สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า เพื่อให้สื่อมวลชนโดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่แถบแม่น้ำโขง มีความตระหนักและเข้าใจถึงปัญหาของแม่น้ำโขงในขณะนี้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยนักข่าวและเจ้าหน้าที่กงสุลสหรัฐฯที่ได้ติดตามมาด้วยจะได้รับทราบถึงความท้าทายครั้งนี้ พร้อมเป็นโอกาสที่เจ้าหน้าสหรัฐที่จะได้มาพูดคุยกับผู้สื่อข่าว และจะได้มีความเข้าใจมากขึ้นว่าในอนาคตจะมีความสนับสนุนด้านใดให้กับชุมชนลุ่มน้ำโขงในการแก้ไขปัญหาและให้เกิดความยั่งยืน เพราะแม่น้ำโขงไหลผ่านหลายประเทศ แต่เป็นสิ่งที่หลายประเทศที่อยู่ร่วมกันต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือในระดับนานาชาติ

ดร.ปิณิดา ลีลพนังกำแพงทอง ผู้จัดการโครงการความร่วมมือแม่โขง พร้อมด้วยนุซพนิต นาคพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการโครงการ Project Management Specialist ธนวัจน์ คีรีภาส รองผอ.โครงการแม่โขงเซฟการ์ด วีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผอ.โครงการแม่โขงเพื่ออนาคต สเตฟาโน่ เซโนปี ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลและความโปร่งใสโครงการแม่โขงเพื่ออนาคต และปริตรตา หวังเกียรติ ผู้ประสานงานแม่โขงตลอดจนกรรณิกา เพชรแก้ว สื่อมวลชนอิสระได้มาร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานในพื้นที่ ซึ่งเป็นความร่วมมือไทยสหรัฐในลุ่มแม่น้ำโขง

ทั้งนี้สหรัฐอเมริกาได้ทำงานกับภาคีลุ่มน้ำโขงภายใต้หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐโดยมอบความช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2552-2564 ถึง 4,300 ล้านดอลลาร์ อาทิ ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข มนุษยธรรม เศรษฐกิจและการพัฒนาในภาวะฉุกเฉิน เพื่อต่อสู้กับโรคโควิด 19 ในประเทศไทย 52 ล้านดอลลาร์ โครงการข้อริเริ่มในการจัดการข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขงซึ่งเป็นการสนับสนุนให้นักวิจัยแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อบริหารจัดการแม่น้ำโขง รวมถึงภัยแล้งและอุทกภัย 2 ล้านดอลลาร์ในโครงการ Mekong Dam Monitor ซึ่งใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อแสดงข้อมูลตัวชี้วัดในลุ่มน้ำโขง ซึ่งไม่เคยมีการรายงานมาก่อนโดยเป็นข้อมูลแบบใกล้เคียงเวลาจริงและบุคคลทั่วไปเข้าถึงได้ และโครงการลุ่มน้ำโขงเพื่ออนาคตจะเป็นการปรับปรุงกำกับดูแลทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีโครงการของ SERVIR MEKONG ซึ่งเป็นนำเสนอข้อมูลดาวเทียมที่บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้ เพื่อลดความเปราะบางต่อภัยแล้ง อุทกภัยและการแย่งชิงทรัพยากรน้ำซึ่งรุนแรงขึ้น เพราะเขื่อนต้นน้ำ

Mekong Dam Monitor เผยในลุ่มน้ำโขง 4 ประเทศมีการสร้างเขื่อนถึง 436 แห่ง

 

Brian Eyler ผู้อำนวยการ Mekong Dam Monitor กล่าวว่า ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหรัฐฯในการจัดสร้างเครื่องมือต่างๆ ซึ่งมีหลายหน่วยงานก็ใช้ข้อมูลนี้อยู่ โดยเฉพาะการแจ้งเตือนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งพบว่าหากระดับน้ำในเขื่อนที่จีนมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่า 50 เซนติเมตรจะทำให้แม่น้ำโขงขึ้น-ลงจนเห็นได้ชัด ซึ่งก็สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ล่วงหน้า 5 ชั่วโมง โดยเฉพาะประชาชนริมแม่น้ำโขงฝั่งอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยที่ผ่านมาได้มีการแจ้งเตือนไปแล้ว 22 ครั้ง และล่าสุดคือเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมาโดยแจ้งเตือนถึงการเพิ่มระดับน้ำในแม่น้ำโขง โดยมีการแจ้งเตือนผ่านทั้งทางเฟสบุ๊คและอีเมล์ เพื่อสามารถแจ้งเตือนถึงชาวบ้านได้

ไบรอันระบุว่า ปีนี้การขึ้น ลงของระดับน้ำในลำน้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า โดย Mekong Dam Monitor จะมีการอัพเดททุกวันอังคารทุกสัปดาห์ เป็นข้อมูลเรียลไทม์และได้ส่งข้อมูลให้กับสำนักทรัพยากรน้ำของไทยด้วย ในข้อมูลของ Mekong Dam Monitor แสดงให้เห็นถึงจำนวนเขื่อนในลุ่มน้ำโขงทั้งหมด โดยพบว่ามีเขื่อนในจีนถึง 129 แห่ง ลาว 68 แห่ง กัมพูชา 9 แห่ง และเวียดนาม 78 แห่ง รวมทั้งหมด 436 แห่ง ซึ่งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำในแม่น้ำโขงทำให้ชาวประมงจับปลาได้น้อยลง การไหลของน้ำมีการเปลี่ยนแปลงไม่เป็นปกติเหมือนอดีต และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก็ยังทำให้น้ำโขงแห้งลงและกลับไปเหมือนเดิมไม่ได้ด้วย

บ่อนการพนันในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

อาจารย์ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับบ่อนการพนัน คาสิโนชายแดน:คิงส์โรมัน เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ สปป.ลาว ว่า นับตั้งแต่ปี 2543 ที่เส้นทาง R3B สร้างเสร็จและเปิดใช้เส้นทางเชื่อมระหว่างพม่า ไทยและจีน พร้อมกับยุคทองของเมืองลา ในฐานะเขตปกครองพิเศษคาสิโนก็เกิดขึ้น

ปี 2548  จีนดำเนินมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการต่อต้านการพนัน จนถึงขั้นปิดด่านเพื่อตอบโต้ทางการเมืองลา เพราะไม่พอใจที่คนจีนข้ามมาเล่นการพนันจึงเป็นผลให้บ่อนการพนันทยอยปิดตัวลงในปี 2552 หมดยุคลาสเวกัสแห่งฉาน กลุ่มทุนจึงเคลื่อนย้ายไปเขตแขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว เมื่อปี 2546 ลาวให้สัมปทานพัฒนาโครงการบ่อเต็นเมืองทอง ปี 2550 บ่อเต็นเมืองทองเปิดตัวคาสิโนอย่างยิ่งใหญ่ แต่ก็เพียงไม่กี่ปีต้องปิดตัวลงในปี 2554 เพราะทางการจีนไม่พอใจที่คนจีนที่มาเล่นการพนันถูกจับเป็นตัวประกัน บ่อเต็นเมืองทองจึงกลายสภาพเป็นเมืองร้าง

ปี 2550รัฐบาลลาวได้ลงนามสัญญาสัมปทานร่วมกับกลุ่มดอกงิ้วดำ พื้นที่ในเมืองต้นผึ้งจากกลุ่มทุน ‘ดอกงิ้วคำ’ ในเครือบริษัท จินมู่เหมียน (Jin Mu Mian) บริษัทจดทะเบียนในฮ่องกงของจ้าวเหวย เพื่อพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการค้าและการท่องเที่ยว แม้ลักษณะการร่วมทุนรัฐบาลลาวถือหุ้นร้อย 30 แต่อีกร้อยละ 70 เป็นของเอกชน ซึ่งรัฐบาลลาวมอบสิทธิในการบริหารจัดการพื้นที่ทั้งหมดให้แก่บริษัท ขนาดพื้นที่แรกเริ่มอยู่ที่ 8.2 ตารางกิโลเมตร ในระยะเวลา 40 ปีก่อนจะได้รับการขยายพื้นที่และระยะเวลาเช่า โดยได้ขยายพื้นที่เป็น 30 ตารางกิโลเมตร ระยะเวลา 99 ปี  ในปี 2551 เริ่มมีการเปิดใช้เส้นทาง R3Aเชื่อมไทย-ลาวและจีน และในปี 2552 คาสิโนคิงส์โรมัน ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009

การที่คิงส์โรมันไม่ต้องเสียค่าสัมปทานรายปี และได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี จึงเกิดข้อสงสัยว่ารัฐบาลจีนอยู่เบื้องหลังการลงทุนโครงการนี้ด้วยหรือไม่ ซึ่งจ้าวเหวยก็ออกมายืนยันว่าไม่เกี่ยวกับรัฐบาลจีนแต่อย่างใด มีเพียงความร่วมมือด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวกับทางมณฑลยูนนานเท่านั้น

คิงส์โรมัน เคยมีธุรกิจในไทย 3 แห่ง และในปัจจุบันยังดำเนินการ 1 แห่ง โดย 2 แห่งที่เคยดำเนินกิจการแต่ปัจจุบันได้ยกเลิกสถานะนิติบุคคลไปแล้ว คือ “บริษัทคิงส์ โรมัน ทราเวล แอนด์ ทัวร์ จำกัด” จดทะเบียนในหมวดธุรกิจจัดนำเที่ยว มีกรรมการบริษัทคือนางหลี่ เหวิน เหม่ย ผู้ลงทุนไทย 2 ราย มูลค่าการลงทุน 2.55 ล้านบาท (ร้อยละ 51) จีน 1 ราย 2.45 ล้านบาท (ร้อยละ 49) อีกบริษัทฯ ที่เลิกกิจการไปแล้วคือ “บริษท คิงส์ โรมัน อินดัสทรี จำกัด จดทะเบียนในหมวดธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง มีนางกุ้ยฉิน ซู (ภรรยาจ้าว เหวย) เป็นกรรมการบริษัท ส่วนบริษัทฯ ที่ยังดำเนินการอยู่คือ “บริษัท คิงส์ โรมัน จำกัด” จดทะเบียนเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2552 ทุนจดทะเบียน 2,000,000 บาท ที่ตั้ง 292 หมู่ที่ 1 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เชียงราย จดทะเบียนในหมวดธุรกิจจัดนำเที่ยว มีกรรมการบริษัทคือ 1.นายนัท รุ่งตะวันคีรี 2.นายชูเกียรติ ตุ้งจา และ 3.นายจ้าว เหวย ผู้ลงทุนไทย 2 ราย มูลค่าการลงทุน 1,800,000 บาท (ร้อยละ 90) จีน 1 ราย 200,000 บาท (ร้อยละ 10)

คิงส์โรมันตกเป็นข่าวดังในเชิงลบทุกปี เริ่มตั้งแต่ 2561 สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ปี 2562 นักธุรกิจไทยถูกอุ้มเรียกค่าไถ่ 5 ล้านบาท ปี  2563 ยิงถล่มลูกค้าคาสิโนชาวจีนรถพรุน ดับ 4 ศพ ในปี  2564 ในคิงส์โรมันมีคนติดเชื้อโควิคเกือบ 300 ราย และในปี 2565 คนไทยถูกหลอกไปทำงานให้แก๊งค์สแกมเมอร์.

ตัวแทนชาวบ้านครวญกลุ่มทุนทำให้วงจรและกระแสน้ำเปลี่ยน เพราะการสร้างเขื่อน ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่หาปลาในลำน้ำโขงได้รับผลกระทบ 

 

ไพโรจน์ สิงห์ทอง ชาวบ้านปากอิง เล่าว่า ตั้งแต่ดั้งเดิมวิถีชีวิตของชาวบ้านปากอิงจะมีแม่น้ำโขงเป็นต้นทุนของชีวิต โดยชาวบ้านใช้น้ำในการเพาะปลูกและทำมาหากิน ก่อนที่จีนจะมีการสร้างเขื่อน น้ำในแม่น้ำโขง แต่พอมีเขื่อนน้ำโขงก็มีการปรับเปลี่ยนน้ำขึ้น น้ำลงไม่เป็นไปตามฤดูกาลแต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็ต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้

“สมัยก่อนประมาณปี 30 พอตี 4 ตี 5 ชาวบ้านก็จะออกไปล่องเรือวางอวนจับปลาในลำน้ำโขง เพื่อให้เพียงพอประทังชีวิต แต่พอกระแสน้ำเปลี่ยน จากช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.ถ้าเป็นอดีตจะเป็นช่วงแล้งน้ำในแม่น้ำโขงลดลงแทบจะเดินข้ามไปฝั่งลาวได้ และปลาจะนิ่ง  พอเข้าเดือนพ.ค.-มิ.ย.ก็จะเป็นช่วงที่ปลาจะวางไข่ แต่ตอนนี้กลุ่มทุนทำให้วงจรและกระแสน้ำเปลี่ยน เพราะการสร้างเขื่อน ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่หาปลาในลำน้ำโขงได้รับผลกระทบ ชาวบ้านไม่มีทางเลือกเมื่อระบบนิเวศน์เปลี่ยนไปชาวบ้านก็ต้องปรับวิธีทำมาหากินเพื่อความอยู่รอด

นางอรพิน วุฒิกร ชาวบ้านผู้มีอาชีพเพาะถั่วงอกและปลูกพืชผักริมฝั่งแม่น้ำโขง เล่าว่า เมื่อก่อนแถวบ้านจะมีหาดทรายกว้างและสามารถปลูกผัก เพาะถั่วงอกได้ แต่ตอนนี้น้ำขึ้น น้ำลงไม่เหมือนเดิม ซ้ำร้ายน้ำเปลี่ยนทิศทาง บางครั้งระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะชาวบ้านไม่รู้ว่าจีนจะปล่อยน้ำจากเขื่อนเมื่อใด บางที 2-3 ชั่วโมงน้ำขึ้นเร็วและไหลแรงพืชผักและถั่วงอกที่เพาะไว้ถูกน้ำซัดหายไป เพราะขนย้ายไม่ทัน บางปีถั่วงอกที่เพาะไว้ 100 กว่าถังถูกน้ำพัดไปหมดจนไม่มีถั่วงอกหาย สวนผักที่เคยทำได้เกือบทั้งปี ตอนนี้แม้จะยังพอทำได้แต่ต้องเป็นผักที่ปลูกระยะสั้น และต้องลุ้นตลอดโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำจะได้รับความเสียหายเวลาจีนปล่อยน้ำจากเขื่อน นอกจากนี้ก็ยังมีไก(สาหร่าย) ในแม่น้ำโขงซึ่งชาวบ้านจะสามารถเก็บไกได้เยอะในช่วงหน้าหนาว แต่พอมาตอนนี้น้ำมามากก็จะเก็บไกไม่ได้เลย

ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของบอกยังรอความชัดเจนเรื่องการจัดการเขื่อนและพลังงานของภาครัฐ

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของบอกว่า ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนทำให้น้ำโขงขึ้นลงไม่เป็นไปตามฤดูกาล ในอดีตฤดูน้ำหลากในเดือนพ.ค.จะมีน้ำเต็มฝั่งทำให้ปลาขยายพันธุ์ได้เร็วมาก แต่เมื่อสร้างเขื่อนและมีการปล่อยน้ำปี 57 ก็เริ่มเกิดปัญหากับชาวบ้านริมน้ำโขงทุกพื้นที่ ไม่สามารถหาปลาเลี้ยงชีพได้ จำนวนปลาก็ลดลงและสูญพันธุ์โดยเฉพาะปลาบึก

“เดี๋ยวนี้ชาวบ้านแทบจะหาปลาเลี้ยงชีพไม่ได้ จากเดิมปลาตัวใหญ่ในปี 40-50 จับปลาได้มากอยู่ แต่ระยะหลังไม่มีใครจับได้เลยเหลือแค่ปลากระบอก ปลาตาดำตัวละ 2-3 กก. การที่สื่อมวลชนลงพื้นที่มาครั้งนี้ก็อยากให้ช่วยตรวจสอบด้วย เรายังรอความชัดเจนเรื่องการจัดการเขื่อนและพลังงานของภาครัฐ เราไม่อยากให้รัฐอ้างเรื่องพลังงาน ชอบกล่าวอ้างว่าถ้าไม่มีเขื่อนก็ไม่มีพลังงานใช้ วาทกรรมแบบนี้ภาครัฐเอาไปกล่าวอ้างตลอด ปัญหาเรื่องแม่น้ำโขงเป็นเรื่องจริงและอยากให้มีการติดตามมุมมองทั้งภาพใหญ่และเล็กว่ามันคุ้มกันมั้ย สิ่งสำคัญคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่สอดคล้องกับข้อมูลที่ Mekong Dam Monitor ให้ข้อมูลมาเกี่ยวกับการปล่อยน้ำในเขื่อนของจีน มันเป็นสิ่งที่ผิดปกติ”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวและว่า

เพราะฉะนั้นการไม่จำยอมกับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบกับคนลุ่มน้ำโขง จะทำอย่างไร ช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดโควิด ทางนักวิชากาจากมหาวิทยาลัยในจีนเคยลงพื้นที่มาพบชาวบ้าน มาพูดคุยในลักษณะที่จะเยียวยา แต่สำหรับพวกเราแล้วเห็นว่ามันต้องมาคุยกัน เราต้องการข้อมูลและให้ยอมรับความจริง และการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการปล่อยน้ำในเขื่อนของจีนของหน่วยงานรัฐก็เข้าไม่ถึงชาวบ้าน ที่บอกว่าหากจีนปล่อยน้ำจากเขื่อนแล้ว 3-5 วันจะทำให้ระดับน้ำที่เชียงของสูงขึ้นชาวบ้านไม่รู้เลย

นอกจากนี้การที่มีการสร้างเขื่อนปากแบงในลาว ซึ่งห่างจากเชียงของประมาณ 50 กม.บริษัทต้าถังของจีนซึ่งเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างก็เคยส่งตัวแทนมาคุยกับชาวบ้านและเราห่วงเรื่องน้ำท่วม และยังมีการต่อรองเรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมEIA มีการตัดแปะและได้ทำหนังสือถึงกรมประมงที่อ้างเรื่องปลา เราขอให้มีการศึกษาใหม่และเป็นการศึกษาร่วมกันไม่ใช่เอาผลการศึกษาของต้าถังมาอ้าง แต่ข้อเรียกร้องก็เงียบหายไป ตอนนี้รัฐบาลไทยลงนามซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงนี้อีก โดยอ้างความจำเป็นด้านพลังงานอ้างว่ารัสเซียและยูเครนสู้รบกันทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น แบบนี้เราก็เลยเป็นห่วงว่าที่เคยเรียกร้องไปจะไม่ได้รับความสนใจ

แนะรัฐหยุดวาทกรรม ไม่สร้างเขื่อนจะเอาพลังงานไฟฟ้าจากไหน ชี้หมดยุคสมัยแล้ว

นายนิวัฒน์ บอกว่า อยากให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบได้เปิดเวทีให้ชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นด้วย ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้แสดงความคิดเห็นเลย รัฐรู้มั้ยว่าสิ่งมีชีวิตในลำน้ำโขงได้รับผลกระทบหมด พอเราพูดแบบนี้นักวิชาการของรัฐก็อ้างลานิญาที่ทำให้ฝนมาก น้ำมาก แต่ผมเพิ่งกลับจากสาละวิน ทำไมสาละวินกับโขงถึงต่างกันถ้าหากเป็นปรากฏการณ์ลานิญ่าจริง ไม่ว่าลุ่มน้ำ แม่น้ำสายไหนก็ต้องเหมือนกัน แต่ทำไมสาละวินไม่ได้รับผลกระทบเหมือนแม่น้ำโขง เพราะสาละวินไม่มีเขื่อนที่ต้นน้ำ แต่แม่น้ำโขงมีการสร้างเขื่อนจึงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์วิทยาที่ถูกทำลาย

“เรื่องระเบิดแก่งในลำน้ำโขงก็เช่นเดียวกัน เราเรียกร้องขอให้มีการระงับการระเบิดแก่งซึ่งต่อสู้กันมายาวนานเกือบ 20 ปี จีนต้องการระเบิดแก่งเพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่ 500 ตันผ่านได้ แต่เราต่อสู้และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเห็นว่าการที่เราคัดค้านการระเบิดแก่งนั้นมันเป็นเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศ เมื่อก่อนทำไมรัฐบาลแช่แข็งเรื่อง นี้ แม่น้ำโขงอยู่ในสนธิสัญญามีตัวแทนรัฐบาลมาพบเราหลายครั้ง ครม.ปี 59 อนุมัติให้มีการสำรวจเกาะแก่งในลำน้ำโขงมันคืออะไร ทั้งๆ ที่การทำประชาพิจารณ์ 3 อำเภอชาวบ้านไม่เห็นด้วยเลย จากที่เคยทำประชาพิจารณ์เมื่อปี 45 ชาวบ้านไม่เห็นด้วยที่จะระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำโขง 60-70% แต่พอปี 59-60 ชาวบ้านไม่เห็นด้วยถึงร้อยละ 98 เพราะชาวบ้านได้รับผลกระทบและรับรู้ได้ถึงไม่เห็นด้วย ถ้าไม่อยากเสียความสัมพันธ์กับจีนรัฐบาลอ้างชาวบ้านได้”นายนิวัฒน์ กล่าวและว่า

 

ระบุรัฐบาลไทยไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมในทุกมิติ

 

การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทำให้ความมั่นคงทางอาหารเสียหาย ระบบนิเวศน์พัง อย่างพื้นที่หาดแท่เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้าน 2 ประเทศทั้งไทยและลาวหาปลา เพราะเป็นจุดที่น้ำโขงกว้างมาก เคยหาปลาได้เป็นหมื่นๆ พวง เป็นวัฒนธรรมของชาวประมงลุ่มน้ำโขง เราจึงอยากแสดงให้เห็นว่าก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างอะไรควรจะมีการศึกษาให้รอบด้าน แต่รัฐไทยถ้าจะสร้างอะไรก็ส่งวิศวกรมาเลย รัฐไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมในทุกมิติ ที่จริงแล้วควรจะมีการศึกษาให้รอบด้านแล้วเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียอันไหนมากกว่ากัน เพราะถ้าหากปล่อยให้กระทบสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ ผลเสียไม่ใช่แค่คนริมฝั่งแม่น้ำโขง เหมือนกับการสร้างพนังกันตลิ่งที่ใช้งบประมาณมหาศาล กิโลเมตรร้อยกว่าล้านแล้วริมน้ำโขงในฝั่งไทยมีถึง 97 กม.เป็นเงินเท่าไหร่ เอาภาษีของคนทั้งประเทศมาใช้เลย

ชี้ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ อย่าขายทรัพยากรธรรมชาติของตัวเอง ย้ำรัฐบาลต้องเข้าใจคนที่ต้องอยู่เป็น “พลเมืองโลก”ไม่ใช่มองแค่”พลเมืองไทย”

 

ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวด้วยว่า แม้จะต่อสู้เรื่องนี้มานานแต่ก็ไม่เคยรู้สึกท้อ เพราะคิดว่าสิ่งที่ทำไม่ได้หวังเกินตัว เราก็เป็นคนๆ หนึ่ง ไม่ใช่เทวดาทำไรที่ไม่เกินตัวก็มีความสุข ทำแล้วสบายใจ ที่ผมเห็นว่าควรจะหยุดสร้างเขื่อนได้แล้วนั้น ถ้าให้พูดตรงๆ คือเขื่อนก็คือเงินเลิกวาทกรรมแบบเดิมเถอะไม่สร้างเขื่อนจะเอาไฟมาจากไหน ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก แต่จะมาใช้ตอนนี้ไม่ได้แล้ว อยากให้รัฐบาลเข้าใจโลกปัจจุบัน กระบวนทัศน์ ทัศนคตินั้นสำคัญจะมาคิด มาพูดแบบเดิมๆ ไม่ได้

“ถ้ามีการเลือกตั้งจริงๆ ผมอยากได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ส่วนรัฐบาลที่มีทัศนคติแคบๆ จะอยู่ไม่ได้แล้ว โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว คนเป็นรัฐบาลต้องเข้าใจคนที่ต้องอยู่เป็น “พลเมืองโลก”อย่าคิดแค่คนไทย หรือพลเมืองไทยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเข้าใจโลก อย่ามองแค่ประเทศตัวเอง ไม่ทันกิน ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ อย่าขายทรัพยากรธรรมชาติของตัวเองแลกกับอะไรละ ต้องมองทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งมีคุณค่ามากกว่าคน คนตายไม่เท่ากับสิ่งแวดล้อมเสีย เพราะคนตายกระทบแค่คนที่ตาย แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมเสียหายตายทั้งโลกเลย ควรหันมาดูและใส่ใจให้มากตอนนี้ระบบนิเวศน์เสียหายไปเกินครึ่งแล้ว กลุ่มรักษ์เชียงของไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง แต่เราอยากสะท้อนให้เห็น และคนต่อสู้ก็สำคัญเพื่อให้เห็นถึงการต่อสู้ของคนท้องถิ่นและอยากให้มีเครือข่ายขึ้นมามากๆ เป็นพลังร่วมกันขับเคลื่อน”นายนิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย.

 

You may also like

ทอท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในรัศมี 5 กม. จากสนามบินเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่

จำนวนผู้