หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เผยผลสำรวจสมาชิกฯพบยอดขายธุรกิจก้ำกึ่งระหว่างทรงตัวกับดีขึ้น แต่สภาพคล่องทางการเงินตึงตัว ขณะที่สมาชิกหอการค้าฯประมาณ 1 ใน 5 อยู่ในสถานะที่ต้องได้รับการดูแล คาดแนวโน้มไตรมาส 2 ปีนี้สถานการณ์เป็นบวกโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง การเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติและสายการบินตรงจากต่างประเทศเริ่มมีเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 19 พ.ค.65 ที่สำนักงานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ นายจุลนิตย วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยผศ.ดร.จิราวิทย์ ญาณจินดา รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยศิลปะสื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นางสาวกันชกา สุวณิชย์ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ นายสมโภช ลิ้มเล็งเลิศ กรรมการเลขาธิการหอการค้าน นายอาคม สุวรรณกันธา รองเลขาธิการหอการค้าฯและนายปรกฤษณ์ สายหัสดี กรรมการรองเลขาธิการและประธาน YRC หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ปี 2564 และ ไตรมาสแรกปี 2565โดยมีคณะกรรมการบริหารหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
นายอาคม สุวรรณกันธา รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวสรุปภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ปี 2564 ว่ามีการปรับตัวดีขึ้นเป็นช่วงๆ ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคติดต่อโควิดฯ โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4ที่เข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวทำให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีตาม การลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะด้านการก่อสร้างมีสัญญาณฟื้นตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐทั้งการลงทุนและประจำขยายตัว ผลผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจากภาวะอากาศที่เอื้ออำนวย แต่ราคาส่วนใหญ่ลดลง ผลผลิตอุตสาหกรรมเกษตรส่งออกเพิ่มขึ้น สินเชื่อกระเตื้อง ขณะที่ราคาสินค้าเร่งตัวขึ้นจากราคาพลังงาน ตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้าง
อย่างไรก็ตาม ไตรมาสแรกของปี 2565 แม้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากการท่องเที่ยว แต่ช่วงปลายไตรมาสก็เริ่มชะลอลงบ้างจากการระบาดของโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน สำหรับการลงทุนภาคเอกชนพบว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เริ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย ส่วนค่าใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ด้านผลผลิตเกษตรลดลง ผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เงินฝากเร่งตัวดีขึ้น ส่วนเงินให้สินเชื่อชะลอลง อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวมากถึงร้อยละ 3.5 จากราคาพลังงานและอาหารสด
`ทางด้านนายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หอยอดการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้ทำการสำรวจกาคาดการณ์เศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่โดยส่งแบบสอบถามจากสมาชิกหอการค้าฯ ซึ่งจำแนกตามประเภทธุรกิจเมื่อสิ้นเดือนมี.ค.65 ที่ผ่านมา โดยพบว่ายอดขายธุรกิจช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.ยอดขายไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ก้ำกึ่งกันระหว่างทรงตัว แย่ลงและแย่ลงมาก กับดีขึ้นและดีขึ้นมาก โดยแนวโน้มยอดขายธุรกิจช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.65 มีแนวโน้มดีขึ้นโดยเกือบครึ่งหนึ่ง เห็นว่ายอดทรงตัวจากช่วงก่อนหน้าและอีก 1 ใน 3 คาดว่ายอดขายจะดีขึ้นและดีขึ้นมาก
สำหรับการจ้างงานของผู้ประกอบการช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.65 เทียบกับการจ้างงานช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.64 เท่ากับร้อยละ 70 ของสมาชิกหอการค้าที่จ้างงานเท่ากับช่วงก่อนหน้าและร้อยละ 13.7 จ้างงานเพิ่มขึ้น ส่วนการจ้างงานของผู้ประกอบการช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.65 เทียบกับช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.65 เท่ากับร้อยละ 70 ของสมาชิกหอการค้าที่ยังจ้างงานเท่ากับช่วงก่อนหน้า และร้อยละ 18.2 ที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ด้านสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.65 เทียบกับช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.64 ส่วนใหญ่คือร้อยละ 47.7 เห็นว่าไม่แตกต่างกัน แต่ร้อยละ 29.5 มีสภาพคล่องทางการเงินตึงตัวและตึงตัวมาก สมาชิกที่เห็นว่าสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้นมีจำนวนน้อยกว่าคือร้อยละ 22.8
สำหรับแนวโน้มสภาพคล่องทางการเงินช่วงต่อไปคือเดือนเม.ย. -มิ.ย.65 ผลสำรวจพบว่าสมาชิกหอการค้าฯคาดว่าสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจไม่แตกต่างจากเดิมและอีก 1 ใน 4 คาดว่าสภาพตล่องทางการเงินจะดีขึ้นจากไตรมาสที่ 1 อย่างไรก็ดีสมาชิกหอการค้าร้อยละ 18.2 คาดว่าสภาพคล่องทางการเงินในช่วงต่อไปจะลดลงมาก
ในส่วนของการได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.65 เทียบกับช่วงต.ค.-ธ.ค.64 กว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 52.3 แจ้งว่าไม่แตกต่างจากช่วงก่อนหน้าและอีก 1 ใน 4 ตอบว่าได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้า ขณะที่อีกร้อยละ 11.4 เท่าๆ กันได้รับสินเชื่อลดลงและลดลงมาก สะท้อนว่าสมาชิกหอการค้าประมาณ 1 ใน 5 อยู่ในสถานะที่ต้องได้รับการดูแล ส่วนในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.65 เทียบกับม.ค.-มี.ค.65 จำนวนสมาชิกที่ตอบว่าได้สินเชื่อจากสถาบันการเงินลดลงและลดลงมากมีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.1 จากร้อยละ 22.8 ไตรมาสก่อน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่คาดว่าจะได้สินเชื่อเพิ่มขึ้นก็มีเพิ่มขึ้นเช่นกันเป็นร้อยละ 30.4 เทียบกับร้อยละ 25.0 จากไตรมาสก่อน
อประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ยังเผยผลสำรวจเกี่ยวกับข้อจำกัดทีผู้ประกอบการประสบอยู่คือ โควิดฯที่ยังระบาดถึงร้อยละ 33.3 ปัญหาขาดกำลังซื้อ การแข่งขันที่รุนแรงและขาดความต้องการของตลาดร้อยละ 43.8 ปัญหาด้านสถาบันการเงิน ปัญหาการชำระหนี้และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีถึงร้อยละ 20.8 แต่ก็มีสมาชิกหอการค้าฯที่ตอบว่าไม่มีปัญหาร้อยละ2.1
ในแบบสำรวจกรรมการและสมาชิกหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ยังเผยถึงข้อจำกัดอื่นๆ ที่พบอีกเช่น ต้นทุนการจำหน่ายที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ปุ๋ย ปัญหาหมอกควัน ไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็กเพราะเป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวและผู้พำนักระยะยาวและตลาดสุขภาพ การเข้าถึงเทคโนโลยี ตลอดจนผู้ว่าจ้างที่ไม่ชำระหนี้ และอยากให้หน่วยงานภาครัฐช่วยเหลืออย่างจริงจัง
“แนวโน้มเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ ไตรมาส 2 ปี 2565 นั้นหอการค้าเรายังมองสถานการณ์เป็นบวกโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง การเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติและสายการบินตรงจากต่างประเทศเริ่มมีเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ต่อเนื่อง ทั้งนี้หลายประเทศมีการปลดล็อคเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวจากชาติอื่นเข้ามาส่วนคนในประเทศก็อนุญาติให้เดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศอื่นเช่นกัน อย่างไรก็ตามเชียงใหม่ยังต้องพึ่งนักท่องเที่ยวจีน แต่ในขณะนี้ประเทศจีนยังมีนโยบายไม่ให้คนในประเทศออกเดินทางไปยังประเทศอื่นซึ่งหากอนาคตอันใกล้มีการผ่อนปรนจุดหมายที่นักท่องเที่ยวจีนต้องการเดินทางมายังคงเป็นประเทศไทยรวมถึงจังหวัดเชียงใหม่” ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวและว่า
ทางผู้ประกอบการยังมีข้อเสนอแนะว่าอยากจะให้สถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อ มีการช่วยเหลือด้านการลดต้นทุน ส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล การเปิดน่านฟ้าให้มีเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศมาลงที่จังหวัดเชียงใหม่ เช่น มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย ประเทศในยุโรปและประเทศเอเชียกลุ่ม Wellness Travelers.