ปลัดกระทรวงเกษตรฯ มอบแนวทางบริหารจัดการน้ำ พร้อมลงพื้นที่ดูการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำปิง ด้วยระบบอัจฉริยะ ป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจตัวเมืองเชียงใหม่
วันที่ 10 สิงหาคม 2465 เวลา 13.30 น. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะเดินทางมาเป็นประธานการประชุม และมอบแนวคิดหลักการบริหารงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมข้อคิดการทำงานของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดภาคเหนือ โดยมี นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชลประทาน ร่วมให้การต้อนรับและเข้าประชุม ณ ประตูระบายน้ำป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้กล่าวรายงานภาพรวมของสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน และช่วงฤดูแล้ง ขณะเดียวกัน นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าวิศวกรรมโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้กล่าวรายงานถึงความเป็นมาของประตูระบายน้ำป่าแดด พร้อมระบบการควบคุมที่นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมกับเทคโนโลยี IOT ผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดระบบควบคุมและบริหารจัดการประตูระบายน้ำแบบอัจฉริยะ ที่เป็นฝีมือคนไทย
จากนั้นทางคณะได้เยี่ยมระบบควบคุมประตูน้ำอัจฉริยะ และวิธีการควบคุมบานประตูทั้งแบบบังคับด้วยเจ้าหน้าที่ (แบบ Manual) และบังคับผ่านระบบอัจฉริยะด้วยสมาร์ทโฟน ที่สามารถดูข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟนได้แบบเรียลไทม์ พร้อมควบคุมการเปิด-ปิด ประตูน้ำหากเกิดสถานการณ์ฝนตกหนักและต้องการระบายน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่เศรษฐกิจในตัวเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่อื่นๆ ตามเส้นทางลำน้ำปิง แลเป็นการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการโครงการประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ และหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วม ว่า ปัจจุบันโครงการประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง สามารถควบคุมการเปิดปิดบานระบายน้ำด้วยระบบอัตโนมัติที่เชื่อมโยงกับข้อมูลปริมาณน้ำ และสามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งมีค่าความปลอดภัยคิดเป็น 1.5 เท่า ของอัตราการระบายน้ำสูงสุดของลำน้ำปิงเมื่อขุดลอกปรับแต่งลำน้ำทั้งด้านเหนือและด้านท้ายประตูระบายน้ำ ที่ 800 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาการเกิดอุทกภัยในเขตเมืองเชียงใหม่ ที่สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ย่านธุรกิจการค้าและพื้นที่พักอาศัย ซึ่งมีพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมประมาณ 44,400 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ฝั่งตะวันออก 37,300 ไร่ และพื้นที่ฝั่งตะวันตก 7,100 ไร่นอกจากนี้ ประตูระบายน้ำดังกล่าวฯ ยังทำหน้าที่ส่งน้ำให้กับฝายท่าศาลา พื้นที่กว่า 10,000 ไร่ ฝายหนองผึ้ง พื้นที่ 5,200 ไร่ และฝายวังตาล พื้นที่ 8,100 ไร่ และยังบรรเทาปัญหาน้ำเสียในแม่น้ำปิง โดยการระบายน้ำเสียและตะกอนที่ตกทับถมอยู่บริเวณท้องน้ำให้ไหลไปทางด้านท้าย เป็นการถ่ายเท และหมุนเวียนน้ำ ทำให้คุณภาพในแม่น้ำปิงดีขึ้น เกษตรกรสามารถกลับมาทำประมงได้อีกครั้ง
ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน 2548 เกิดอุทกภัยจากภาวะน้ำในแม่น้ำปิงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ จำนวน 5 ครั้ง ส่งผลให้เกิดความเสีบหายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่โดยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2548 หลังจากเกิดน้ำท่วมครั้งที่ 1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระราชดำริ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในเรื่องปัญหาน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงใหม่ ความว่า “โดยสภาพลำน้ำแม่ปิง มีการบุกรุก และลำน้ำแคบ นอกจากนั้นยังมีฝายหินทิ้งเป็นระยะๆ ทำให้น้ำไหลไม่สะดวก จะต้องปรับปรุงสภาพลำน้ำให้โล่ง และทำอาคารบังคับน้ำหรือประตูระบายน้ำที่ฝายแทน เพื่อให้น้ำไหลสะดวกในฤดูฝน และสามารถยกน้ำไปใช้ในการเกษตรได้ในฤดูแล้ง”จากพระราชดำริข้างต้น ส่งผลให้เกิดมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตตัวเมืองเชียงใหม่และเขตใกล้เคียงขึ้น โดยโครงการประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง เป็นหนึ่งในสามของมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 โดยมีการก่อสร้างอาคารประตูระบายน้ำ ควบคุมระดับน้ำอัตโนมัติ บันไดปลาโจร และอาคารท่อส่งน้ำปากคลองจำนวน 3 แห่ง ส่งน้ำให้กับพื้นที่ส่งน้ำฝายท่าศาลา ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล
“วันนี้นอกจากตนได้ลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโครงการประตูระบายน้ำในน้ำปิงแล้ว ยังตั้งใจมาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ที่ปฏิบัติราชการอยู่ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะหลังการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้เห็นการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เป็นไปอย่างดีเยี่ยม ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกท่านอีกครั้ง” ดร.ทองเปลว กล่าว