โครงการ Lanna Essence Workshop (ปีที่ 2) เปิดตัวนิทรรศการนำผลงานนักออกแบบนวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์รุ่นใหม่ 16 ชิ้นงาน ซึ่งร่วมจัดแสดงบริเวณ Creative Lanna Pavilion อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) เป็นการเตรียมความพร้อมแก่นักศึกษาและนักออกแบบนวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์รุ่นใหม่ให้สามารถมองเห็นโอกาสการเติบโตในสายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ อาจารย์ ดร.ไพรัช พิบูลย์รุ่งโรจน์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในฐานะผู้แทนประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ 3 เชิงรุกล้านนาสร้างสรรค์ เป็นประธานกล่าวเปิดนิทรรศการนำเสนอผลงานนักออกแบบนวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ซึ่งโครงการส่งเสริมศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการผ่านกระบวนการคิดและพัฒนาธุรกิจล้านนาสร้างสรรค์ ปีที่ 2 (Lanna Essence Workshop Season 2) จัดขึ้น เพื่อนำเสนอผลงานนักศึกษาและนักออกแบบนวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ซึ่งร่วมจัดแสดงบริเวณ Creative Lanna Pavilion อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-11 ธันวาคม 2565
ภายในงานได้จัดแสดงผลงานต้นแบบจากกลุ่มผู้ประกอบการนักออกแบบนวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์รุ่นใหม่ภายในโครงการ จำนวน 16 ชิ้นงาน อาทิ “Komm” (ก้อม) หรือเก้าอี้ตัวเล็กของคนล้านนาที่ได้ Redesign ให้มีความสะดวกสบาย เหมาะกับการใช้งานของคนยุคใหม่มากขึ้น แต่ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นล้านนาด้วยการทำเบาะรองนั่งจากเครื่องจักรสานด้วยวัสดุในท้องถิ่น
“Kraft” คอลเลกชันโคมไฟที่บอกเล่าเรื่องราว วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวล้านนาผ่านวัสดุกาบกล้วย โดยโคมไฟในคอลเลกชันถูกออกแบบมาให้มีความหลากหลายเพื่อให้เหมาะกับสถานที่ติดตั้งได้อย่างลงตัว, “TOKEN” ขันโตกเครื่องเขินสำหรับวางอาหาร ที่มีลูกเล่นสามารถแยกชิ้นส่วนออกจากกัน เพื่อใช้ประโยชน์เป็นถาดจากชิ้นส่วนบน และเป็นโต๊ะเตี้ยเพื่อใช้ วางของจากชิ้นส่วนด้านล่าง,
“YANG” หรือแหย่งโมเดิร์น ถอดแบบแหย่งของชาวล้านนาโดยใช้เหล็กเส้นสีทองที่ลดทอนความหนาของตัวแหย่งซึ่งเป็นชิ้นไม้เดิม เพื่อให้ดูโปร่งและเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น, คอลเลกชัน แหวนมงคลล้านนาที่นำสัญลักษณ์ปีนักษัตรและดอกเอื้องมาออกแบบเป็นเซ็ตแหวนที่สามารถเลือกสวมใส่ได้หลากหลายแบบตามความต้องการ ฯลฯ
สำหรับโครงการ“ส่งเสริมศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการผ่านกระบวนการคิดและการพัฒนาธุรกิจล้านนา สร้างสรรค์ หรือ Lanna Essence Workshop Season 2 ได้ส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์รุ่นใหม่ให้นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์กับชุมชน เพื่อแก้ปัญหาท้องถิ่นด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจล้านนาสร้างสรรค์ในภาคเหนือ สามารถพัฒนาศักยภาพในการสร้างผู้ประกอบการให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเป็นหนึ่งในนิทรรศการจากศาลาล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Pavilion) ที่มุ่งให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็น คือ ความสร้างสรรค์ (Creative) ด้วยบูรณาการศาสตร์และศิลป์บนต้นทุนทางวัฒนธรรม, ความมั่งคั่ง (Prosperity) การสร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบบนวิถีชีวิตที่กลมเกลียวร่วมกับถิ่นฐานชุมชน และความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งหมายถึงการเลือกใช้วัสดุหรือแนวทางการออกแบบที่เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับบริเวณพื้นที่จัดงาน Creative Lanna Pavilion นั้น นอกจากจะจัดแสดงผลงานจากโครงการ Lanna Essence Workshop Season 2 แล้ว ยังมีผลงานจากโครงการอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงโครงการเพิ่มคุณค่ามูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยอัตลักษณ์ล้านนาอย่างสร้างสรรค์ หรือ Creative Lanna มาจัดแสดงด้วย โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม โดยผสานองค์ความรู้ล้านนาสร้างสรรค์พร้อมเพิ่มมูลค่าสู่เชิงพาณิชย์ อาทิ ผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องพื้นเมืองล้านนา สายพันธุ์ “บือบ้าง 3 มช.” (BB 3 CMU), เจลไพลลูกประคบ (Compound Herbal Extract Gel), แชมพูขจัดรังแค (Kapao: Antidandruff Shampoo) ฯลฯ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 เชิงรุก ล้านนาสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)
ด้านดร. ไพรัช พิบูลย์รุ่งโรจน์ กล่าวให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า โครงการ Lanna Essence Workshop Season 2 จะเป็นหนึ่งกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยเตรียมความพร้อมแก่นักศึกษาและนักออกแบบนวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์รุ่นใหม่ให้สามารถมองเห็นโอกาสการเติบโตในสายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ศึกษาประสบการณ์จากบุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว โดยปีแรกมีนักศึกษาที่เข้าร่วมคัดเลือกกว่า 50 ทีม โดยมช.มี STeP ที่พัฒนาต่อยอดสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และปีนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมมากกว่า 100 คน ซึ่งมีการแข่งขันและคัดเลือกมาจนถึงการบ่มเพาะประมาณ 30 คน อันจะนำไปสู่การเป็นนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ที่สามารถ นำความคิดสร้างสรรค์ไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน.