เวที”ร่วมหาแนวทางพัฒนาอากาศสะอาดระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา”นักวิชาการชี้ต้องอาศัยพลังทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนกฎหมายพ.ร.บ.อากาศสะอาด ขณะที่หน.วิจัยเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพอากาศด้วยเครื่องเซ็นเซอร์ Dustboy ระบุต้องมีข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษแต่ละพื้นที่เพื่อแก้ให้ตรงจุด ส่วนปธ.สภาลมหายใจเชียงใหม่ดันกระบวนการความร่วมมือ เสนอแก้เชิงนโยบายควบคู่แก้ไฟป่าฯ
เมื่อวันพุธที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์เชียงใหม่ สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาเชียงใหม่ ร่วมกับ โครงการ Mekong for the Future ขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID)จัดเสวนาหัวข้อ”ร่วมหาแนวทางพัฒนาอากาศสะอาดระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา” ‘Sharing Thailand-U.S. Experiences: A Path to Cleaner Air and Healthier Communities’ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการคุณภาพอากาศ โดยมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมงานจำนวนมาก
ผศ.ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวแสดงความเห็นในช่วงสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการคุณภาพอากาศว่า ในฐานะผู้ที่อยู่พื้นที่ประสบภัยทางอากาศมาหลายปี ในฐานะที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องป้องกันตนเองทั้งสวมหน้ากากและพื้นที่ปลอดภัยทั้งส่วนตัวและรัฐจัดให้ เพื่อความปลอดภัยเชิงสุขภาพ และในระยะยาวต้องอาศัยพลังของทุกภาคส่วน ซึ่งวันนี้ค่อนข้างแปลกใจทีมีหลายส่วนทั้งภาควิชาการ เอกชน โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือและสภาลมหายใจที่จะมาร่วมขับเคลื่อนพ.ร.บ.อากาศสะอาด
“ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ โดยเฉพาะช่วงที่อากาศถูกกดลงมาและมลพิษในเมืองถูกขังในแอ่ง แต่ก็สามารถลดแหล่งกำเนิดมลพิษจากที่มนุษย์สร้างขึ้นให้มันเบาบางลง มาตรการที่ท้าทายจึงอยู่ที่มนุษย์ที่จะช่วยกันลดการปลดปล่อยมลพิษ และในเชิงนโยบายรัฐต้องช่วยด้วย”หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร. เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัย “การเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพอากาศ ด้วยเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซนเซอร์ PM2.5 และ PM10 แบบเซนเซอร์ (DustBoy)” กล่าวว่า ในฐานะที่ทำ Dustboy ซึ่งแหล่งกำเนิดสำคัญต้องหาตัวแหล่งกำเนิดให้ชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาแต่ละพื้นที่ให้ได้ เพราะไม่สามารถใช้การแก้ปัญหาจากบนสู่ล่าง เนื่องจากพื้นที่ต่างกัน สิ่งที่จะทำต่อไปคือดาต้าและใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์และดาวเทียม ที่ไม่ใช่แค่ดาวเทียมที่ฝ่ายรัฐดู และใช้การพยากรณ์มาร่วมเพื่อดูสภาพอากาศ 3 วันหรือ 5 วันข้างหน้า เรื่องข้อมูลจะเป็นตัวที่บอกว่าทำได้ไม่ได้โดยเฉพาะการบริหารเชื้อเพลิง และข้อมูลในการจัดการสุขภาพ ขอให้ทุกคนให้ความสำคัญของข้อมูลเพื่อนำไปใช้ให้ถูกต้อง และ Dustboy จะอยู่ได้ต่อไปแค่ไหนขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของภาครัฐด้วยและเป็นสิ่งที่ท้าทายด้วย
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า สภาลมหายใจเชียงใหม่ถือเรื่องกระบวนการความร่วมมือเป็นหัวใจหลักสำคัญ โดยเฉพาะมุมมองใหม่ๆ 1.ปัญหาฝุ่นควันไม่ใช่ปัญหาเชิงเทคนิค แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะรัฐรวมศูนย์ จึงเกิดการซับซ้อนเชื่อมโยงทั้งเกษตร อุตสาหกรรม เพื่อนบ้าน และคำสั่งจากบนลงล่างแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องสร้างการมีส่วนร่วมขนาดใหญ่ของทุกฝ่าย ทั้งผู้ได้รับผลกระทบและสร้างปัญหา
“ที่ผ่านมามีการโทษกันไปมา คนดอยเผา คนเมืองไม่ได้เผา และเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ให้ทุกคนจอดรถไม่สตาร์ทรถก็ไม่ได้ ไม่ให้ปลูกข้าวโพดไม่ได้ เป็นเรื่องกฎหมาย นโยบาย จึงต้องแก้ทั้งระบบ แต่ชุมชนและท้องถิ่นอยู่ติดดิน ติดน้ำและติดป่า ต้องให้พวกเขาลุกขึ้นมาร่วมแก้ปัญหาด้วย”ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวและว่า
จากการทำงานของสภาลมหายใจที่ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนจึงมองปัญหารอบด้าน ทั้งสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม จึงอยากให้การแก้ปัญหาที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์แบบเดียวกัน 90% การเผาเกิดในเขตป่าสงวนฯและป่าอนุรักษ์ แต่การจะเชื่อมพลังเพื่อให้ทุกฝ่ายมาอยู่ในเวทีเดียวกัน ไม่ใช่ทำงานอยู่คนละจุด เพื่อให้มองเห็นภาพรวม ร่วมวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรคร่วมกันไม่ใช่มองดาวคนละดวง ที่สำคัญต้องมีการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งเชียงใหม่มีการสรุปบทเรียนร่วมกันทุกปีและขับเคลื่อนเชื่อมโยงตามศักยภาพ
นายชัชวาล กล่าวอีกว่า การสรุปบทเรียนได้เชิญทุกฝ่ายมานั่งคุยกันว่าทำไม 14-15 ปีถึงแก้ปัญหาไม่ได้ และได้ข้อสรุปว่า 1.เปลี่ยนจากแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นแก้แบบยั่งยืน มีแผนทำงานตลอดทั้งปี 2. แก้จากบนลงล่างมาเป็นสร้างการมีส่วนร่วมทุกฝ่าย โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ให้ชุมชนเป็นแกนหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนประสาน รัฐ เอกชนเป็นผู้สนับสนุน 3.เดิมใช้ห้ามเผาเด็ดขาดแต่แก้ไม่ได้และไม่สอดคล้องความจริง ก็เสนอเป็นการบริหารเชื้อเพลิง คือพื้นที่ห้ามเผาเด็ดขาด ทำแนวกันไฟ ,พื้นที่ต้องเผาเพื่อทำกิน โดยบริหารจัดการเชื้อเพลิงต้องลงระบบไฟดี เพื่อพิจารณา และการเผาอย่างควบคุมให้มีประสิทธิภาพ จากเดิมที่ไม่มีการควบคุม และสุดท้ายคือการหาทางออกหากไม่เผา ก็แปรสภาพเป็นเชื้อเพลิง
ที่ผ่านมาใช้พ.ร.บ.บรรเทาสาธารณภัยเพื่อใช้เงิน คนและอุปกรณ์ ก็เพิ่มพ.ร.บ.สะอาด โดยใช้กลยุทธ์ 3 พื้นที่ คือชุมชน มีการสื่อสารสาธารณะควบคู่งานวิชาการและงานนโยบายเชื่อมโยงจังหวัด อบจ.และท้องถิ่นเพื่อใช้งบประมาณ และที่สำคัญจะทำที่เชียงใหม่อย่างเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือกันระดับภาค ประเทศและภูมิภาคถึงจะประสบผลสำเร็จ ซึ่งข้อเสนอของสภาลมหายใจเชียงใหม่คือ ต้องแก้เชิงนโยบายควบคู่แก้ไฟป่า เช่น ระบบขนส่งมวลชน ลดการปลูกพืชเชิงเดียว ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ฟื้นป่าระบบนิเวศน์และสร้างความมั่นคงที่ดิน สิทธิชุมชนในการจัดการป่า และนโยบายรักษาเยียวยาด้านสุขภาพ การมีเครื่องวัด Dustboy จะทำให้เกิดการตื่นตัวแก้ปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก และพ.ร.บ.อากาศสะอาดต้องเกิด นโยบายกระจายอำนาจต้องเกิด รวมทั้งอปท.ต้องแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับพื้นที่เหมือนกทม.ที่ไม่มีป่าเลยยังเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm2.5.