รพ.มหาราชนครเชียงใหม่เผยแผนปี 66 ลดขั้นตอนใช้บริการด้วย Application เป๋าตังและความคืบหน้าการก่อสร้างและแผนเปิดให้บริการศูนย์การแพทย์หริภุญไชย

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่เผยแผนปี 66 ลดขั้นตอนใช้บริการด้วย Application เป๋าตังและความคืบหน้าการก่อสร้างและแผนเปิดให้บริการศูนย์การแพทย์หริภุญไชย

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์แผนการดำเนินงาน ในปี 2566 ต้อนรับศักราชใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลดขั้นตอนการใช้บริการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่            ด้วย Application เป๋าตัง การให้บริการเพิ่มเติม ณ ศูนย์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ไผ่ล้อม) ความคืบหน้าในการก่อสร้างและแผนการเปิดให้บริการศูนย์การแพทย์หริภุญไชย คณะแพทยศาสตร์ มช. รวมถึงการย้ายห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ชั่วคราว เพื่อปรับปรุงพื้นที่ห้องฉุกเฉินแบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ

ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ได้ร่วมกับ Application เป๋าตัง  ในการยืนยันตัวตนผู้เข้ารับบริการโดยขณะนี้โครงการจัดทำเฉพาะผู้ป่วยในระบบบัญชีกลาง (สิทธิข้าราชการ) ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อผู้ป่วยเข้ามารับบริการมีความจำเป็นต้องใช้บัตรประชาชน ในการยืนยันตัวตน ณ แผนกการเงิน หรือที่ตู้ระบบอัตโนมัติของโรงพยาบาล  แต่เมื่อโรงพยาบาลได้ทำโครงการร่วมกับ Application เป๋าตัง  เพื่อให้ผู้รับบริการยืนยันตัวตน นับจากนี้การเข้ารับบริการยังโรงพยาบาลมหาราชฯ จะช่วยลดขั้นตอนการบริการที่ยุ่งยาก จากที่ต้องต่อแถวเพื่อติดต่อแผนกการเงิน หรือการต่อแถวเพื่อรับบริการ ณ ตู้ระบบอัตโนมัติ ทุกท่านจะได้รับบริการที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นในการเข้ารับบริการ โดยที่ทุกท่านสามารถยืนยันตัวตน ผ่าน Application เป๋าตัง ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ทำระบบภายในเชื่อมโยงข้อมูลไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการตรวจและได้รับใบนัดเป็นที่เรียบร้อย ไม่จำเป็นที่ต้องไปที่แผนกการเงิน หรือตู้ระบบอัตโนมัติ ผู้ป่วยทุกท่านสามารถรอรับยา ณ ห้องจ่ายยาได้เลย ทำให้ลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และยังได้รับความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และในอนาคตอันใกล้ ทาง Application เป๋าตัง จะมีการเชื่อมโยงต่อยังสิทธิอื่นๆ ทั้งสิทธิประกันสังคม และสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า  แต่ในขณะนี้ยังใช้ได้เฉพาะระบบสิทธิข้าราชการเท่านั้น

นอกจากนี้โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดบริการ ณ ศูนย์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ไผ่ล้อม) ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า คลินิกไผ่ล้อม ซึ่งเดิมมีขนาดค่อนข้างเล็กและแออัด ดังนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้ปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าว ให้เป็นพื้นที่ใหม่ ขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้เข้าถึงผู้รับบริการ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย นักศึกษา และประชาชนทั่วไป พร้อมเปิดคลินิก OPD ในการดูแลผู้ป่วย ตรวจโรคทั่วไป ตรวจโรคเฉพาะทางอายุรกรรม  สูตินรีเวช โรคทางกระดูกและข้อ ตรวจอาชีวอนามัย บริการฉีดวัคซีน ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ถาพถ่ายทางรังสี รับยาต่อเนื่อง ตรวจสุขภาพ และออกใบรับรองแพทย์  ซึ่งขณะนี้มีห้องตรวจทั้งสิ้น 6 ห้องตรวจ ผู้เข้ารับบริการได้แก่ ประชาชนทั่วไป นักศึกษา และบุคลากร โดยสามารถรับบริการได้ทั้ง                3 สิทธิในการรักษาโรค ได้แก่ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีพื้นที่กว้างขวาง เปิดบริการตั้งแต่ 8.00-20.00 น. ในวันทำการ (เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่ 08.00-16.00 น.)

ไม่เพียงเท่านี้ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กำลังอยู่ในช่วงเตรียมการเพื่อเปิดบริการในโรงพยาบาลแห่งใหม่ในจังหวัดลำพูน ซึ่งเรียกว่าศูนย์การแพทย์หริภุญไชย คณะแพทยศาสตร์ มช. ซึ่งในขณะนี้ได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จในระยะที่ 1 เรียบร้อยแล้ว และกำลังดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 2 ต่อไป หากดำเนินการแล้วเสร็จโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จะร่วมดำเนินการกับศูนย์บริการทางการแพทย์ หริภุญไชย เพื่อเปิดหอผู้ป่วยแห่งใหม่ จำนวน 200 เตียง และห้องตรวจผู้ป่วยทั้งหมด 16 ห้องตรวจ ห้องฉุกเฉิน จำนวน 5 เตียง                 ห้องคลอด 2 ห้อง และห้องผ่าตัด 2 ห้อง ทำให้โรงพยาบาลแห่งใหม่แห่งนี้ สามารถบริการได้ในระดับบริการทุติยภูมิ เพื่อง่ายต่อการดูแลผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยสูติกรรม ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมาร และศัลยกรรมกระดูก โดยระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 2 จะเสร็จสิ้น ในช่วงประมาณต้นปี 2567 และคาดว่าศูนย์บริการทางการแพทย์ หริภุญไชย แห่งนี้จะแล้วเสร็จและเปิดบริการได้ประมาณกลางปี 2567

ท้ายที่สุดโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้มีแผนการดำเนินการปรับปรุงห้องฉุกเฉิน จากเดิมที่เข้ารับบริการ มีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี ทำให้เกิดความทรุดโทรม และจำเป็นต้องมีการปรับปรุงทั้งระบบ ดังนั้นจึงได้มีการย้ายห้องฉุกเฉินไปยังบริเวณด้านหลัง บริเวณที่ให้บริการยาเคมีบำบัดผู้ป่วย ซึ่งแต่เดิมเรียกว่าเป็น                     ER เก่า โดยการย้ายห้องฉุกเฉินดังกล่าวนี้จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 9 มกราคม 2566 ดังนั้นเมื่อประชาชนทั่วไปเข้ามารับบริการ จะได้รับบริการห้องฉุกเฉินนี้เป็นการชั่วคราวก่อน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลจะมีการประชาสัมพันธ์อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการยังห้องฉุกเฉินได้เข้าถึงการใช้บริการได้อย่างไม่ติดขัด หากห้องฉุกเฉินนี้ได้รับการปรับปรุงเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะเร่งดำเนินการย้ายกลับมายังที่เดิม ณ อาคารเฉลิมพระบารมี โดยจะมีศักยภาพการให้บริการเพิ่มมากขึ้น มีการบริการห้อง X-ray computer ใหม่ ห้องสวนหัวใจและหลอดเลือดรวมถึง ห้องตรวจ MRI และให้พื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้น เพื่อความสะดวกสบายแก่ผู้ป่วย สะดวกไม่แออัด และจะเป็นห้องฉุกเฉินที่มีระบบดิจิตอลและระบบการดูแลผู้ป่วยทางไกล แบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนืออีกด้วย

You may also like

มนต์เสน่ห์เชียงใหม่ เมืองดอกไม้งาม” ภายใต้แนวคิด The Golden of Lanna

จำนวนผู้