อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเผยปีนี้สถานการณ์ฝุ่นควันค่อนข้างน่ากังวล ซึ่งปัจจุบันค่ามลพิษทางอากาศก็เกินค่ามาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาระบบการตัดสินใจ การจัดการไฟในที่โล่ง ด้วยระบบ Fire-D ระดับจังหวัด และท้องถิ่น หวังจะช่วยพัฒนาขยายผลต่อยอดในพื้นที่ต่างๆ
วันนี้ (3 ก.พ. 66) ที่ ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ นายปิ่นสักก์ สุรัลวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และคณะ ได้ร่วมศึกษาแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาระบบการตัดสินใจ การจัดการไฟในที่โล่ง ด้วยระบบ Fire-D ระดับจังหวัด และท้องถิ่น ก่อนลงพื้นที่ไปยังพื้นที่จุดต้นแบบของการบริหารจัดการไฟป่า ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ รวมถึงสภาองค์กรชุมชนและเครือข่ายระดับพื้นที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ด้วย
สำหรับการลงพื้นที่เรียนรู้ แลกเปลี่ยน การบริหารจัดการไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ ได้ร่วมกันหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในหลากหลากประเด็น ทั้งการบริหารจัดกสรไฟป่าในพื้นที่เขตอนุรักษ์ ระบบการทำงานของระบบ Fire-D การถ่ายโอนภารกิจด้านการควบคุมไฟป่า การถอดบทเรียนและข้อเสนอจากการถอดบทเรียนเชียงใหม่โมเดล รวมถึงการลดความขัดแย้งในการบริหารจัดการไฟป่า และการเตรียมความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการบริหารจัดการไฟป่า
โดยผู้นำสภาองค์กรชุมชน ได้เสนอแนวทางการถ่ายโอนภารกิจด้านการควบคุมไฟป่า ให้คณะกรรมการกระจายอำนาจ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้สนับสนุนพื้นที่นำร่อง 12 หมู่บ้าน ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม แม่ออน จอมทอง แม่วาง และเวียงแหง ให้มีความชัดเจนเรื่องฐานอำนาจ กลไกกระบวนการใช้เครื่องมืองบริหารจัดการไฟป่า ผ่านระบบ Fire-D รวมถึงการเชื่อมโยงงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ การถ่ายโอนภารกิจ เพื่อตั้งระบบการสนับสนุนให้มีความชัดเจน อีกทั้งด้านการพัฒนาแผนการบริหารจัดการไฟป่าในพื้นที่ป่าชุมชนให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ นายปิ่นสักก์ สุรัลวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า สาเหตุของปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นมีหลายปัจจัย มีความแตกต่างไปตามสภาพแวดล้อมและพื้นที่ โดยยอมรับว่า ปีนี้สถานการณ์ฝุ่นควันค่อนข้างน่ากังวล ซึ่งปัจจุบันค่ามลพิษทางอากาศก็เกินค่ามาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้นอกจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบการตัดสินใจการจัดการไฟในที่โล่งด้วยระบบ Fire-D แล้ว ยังจะได้ประสบการณ์ในด้านอื่นๆ ไปพัฒนาขยายผลต่อยอดในพื้นที่ต่างๆ เพื่อป้องกันแก้ไข ลดปัญหาและบรรเทาผลกระทบ สร้างความตระหนักร่วมกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน