“วราวุธ”ชี้ปีนี้สถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองรุนแรงแน่ เหตุเชื้อเพลิงสะสมมากว่า 2 ปี กำชับพื้นที่ชิงเผาต้องสื่อสารประชาชน ดูทิศทางลมและสภาพอากาศด้วย รับคุมไฟกลางคืนยากออกปาก”คนจ้องเผากับจ้องป้องกัน”ต่างกัน เผยหากจำเป็นอาจต้องประกาศปิดป่าห้ามเข้าพื้นที่ทั้งป่าสงวนฯและป่าอนุรักษ์
เมื่อวันที่ 6 ก.พ.66 ที่หอประชุม 80 พรรษา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกรทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานประชุมปฏิบัติการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองpm2.5ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมีผู้แทนของจังหวัดเชียงใหม่ กองทัพภาคที่ 3 และจังหวัดอื่นๆ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ด้วย
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานถึงสถานการณ์ การคาดการณ์และมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ประจำปี 2566 ว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองในปี 2566 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ค่าเฉลี่ยpm2.5 24 ชั่วโมงเพิ่มขึ้น 26% จำนวนวันที่เกิดมาตรฐานเพิ่มขึ้น 77% จุดความร้อนเพิ่มขึ้น 24%
สำหรับจุดความร้อนภาคเหนือ 17 จังหวัดและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงข้อมูล 3 ก.พ. พบว่า 17 จังหวัดภาคเหนือยอดสะสม 402 ครั้ง ส่วนยอดสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.-3 ก.พ.รวม 6,478 ครั้ง จุดความร้อนสะสมของไทย 15,596 จุด เมียนมา 26,465 จุด สปป.ลาว 10,853 จุด กัมพูชา 27,740 จุด เวียดนาม 5,249 จุด รวมทั้งสิ้น 85,903 จุด
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า คพ.ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นและจุดความร้อน รวมทั้งคาดการณ์ล่วงหน้า 7 วันให้ 17 จังหวัดทุกวันผ่านศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศทั้ง 17 จังหวัดและยกระดับมาตรการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร กำกับการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวดทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มจุดตรวจจับควันดำริมถนนและโรงงานแหล่งกำเนิดฝุ่นและให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
ขณะที่นายอิศเรศสิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กล่าวว่า ในวันอาทิตย์ที่ 12 ก.พ.66 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีจะเสด็จฯพื้นที่ดอยสุเทพ-ปุย จึงได้ทำแผนสนธิกำลัง ได้วางอัตรากำลังรอบพระตำหนักภูพิงค์ฯและพื้นที่ดอยสุเทพ-ปุย และจัดชุดลาดตระเวน ห้ามประชาชนเข้าออกเด็ดขาด ตั้งแต่ 12-13 ก.พ.นี้ ทั้งด้าน อ.หางดงและแม่ริม รวมทั้งห้ามมีการเผาเด็ดขาดในพื้นที่ใกล้เคียงโดยเด็ดขาด
ทั้งนี้นายวราวุธ ศิลปะอาชา รมว.ทรัพย์ฯกล่าวว่า การที่กวดขันห้ามเผาในที่โล่งแจ้ง หรือการจัดชุดลาดตระเวนเพื่อป้องกันการลักลอบเผา ก็เพื่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน ไม่ใช่เพราะทั้งสองพระองค์จะเสด็จฯ การทำงานของเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนต้องทำต่อเนื่องและอย่าให้ระคายเคืองเบื้องยุคลบาท การทำงานจะต้องมีเอกภาพ จะต้องมีฐานข้อมูลเดียวกันและเห็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่าให้เกิดช่องว่างเหมือนที่ผู้แทนแม่ทัพภาคที่ 3 บอกว่ายังมีจุดเกรงใจ ดังนั้นการประสานงานของผู้บังคับบัญชา ระดับจังหวัดเองขอให้ใช้Single Command และทส.จ.จะต้องประสานผู้ว่าฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลและประสานงาน ถ้าหากมีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นให้ตั้งศูนย์ฯในพื้นที่นั้นทันที
“สำหรับพื้นที่พิเศษคือพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ และพื้นที่ทรงงาน พื้นที่ชีวมณฑล และพื้นที่มีพืชใกล้สูญพันธุ์ พื้นที่มีสัตว์หายากใกล้จะสูญพันธุ์ ต้องดูแลเป็นพิเศษ นอกจากนี้พื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซากทุกปีด้วย ผมคาดการณ์แล้วว่าสถานการณ์ไฟปีนี้จะรุนแรงขึ้น เพราะอั้นมาหลายปีเนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญ่าทำให้ฝนตกชุก ชื้น ทำให้บริหารจัดการเชื้อเพลิงไม่ได้ เชื้อเพลิงก็สะสมมาหลายปี ดังนั้นขอให้มีการติดตามตรวจสอบข้อมูลและประเมินสถานการณ์ในแต่ละครั้ง ขอให้ดูและสื่อสารไปยังประชาชน โดยกรมควบคุมมลพิษต้องหมั่นออกข่าว เพราะต่อไปต้องมีฤดูฝุ่น”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวและว่า
การบริหารจัดการเชื้อเพลิงครบวงจร ก็ดีใจที่มีเอกชนมารับซื้อเศษวัสดุ และหลายพื้นที่มีโครงการชิงเก็บ ลดเผา ปีนี้ตั้งเป้า 3,000 ตัน และอย่าให้เกิดปัญหาวิจารณ์อีกว่า มีการเผาเอางบฯ ซึ่งการชิงเผาขอให้ทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดีก่อน ว่าจุดความร้อนที่เกิดขึ้นควบคุมได้ และขอให้ดูสภาพอากาศด้วย ส่วนกรมป่าไม้ที่ถ่ายโอนภารกิจให้อปท.ไปแล้ว ขอให้ประสานกับอปท. เพราะคนในพื้นที่รู้จุดไหนเสี่ยงและเปราะบาง หากพื้นที่ไหนรุนแรงให้ประสานและโยกย้ายกำลังพลเข้ามาช่วย ส่วนการบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเหมือนกัน ใช้มากก็ถูกตำหนิว่ารังแกประชาชน ใช้น้อยก็ถูกต่อว่าก็ขอให้อดทน อดกลั้น หากเจอผู้กระทำผิดต่อหน้าขอให้บังคับใช้กฎหมาย และการขับเคลื่อนปัญหาหมอกควันข้ามแดนก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะต้องขอความร่วมมือกับเลขาธิการอาเซียน ขอให้กรมควบคุมมลพิษรีบดำเนินการทำหนังสือแจ้งประสาน และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเซียลด้วย
“ปีนี้สถานการณ์หนักแน่ๆ แต่ขออย่าให้รุนแรงเหมือนปี 62 เพราะมีการอัดอั้นการเผามานาน ฝากทุกจังหวัดภาคเหนือขอให้ควบคุมและเข้มงวด โดยเฉพาะผู้ว่าฯทุกจังหวัด เข้มงวดนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเคาะประตูบ้านเลย เนื่องจากปริมาณเชื้อเพลิงในป่าสะสมมา 2 ปี จากนี้ไปสถานการณ์จะรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขอให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพย์ฯมีความตั้งมั่นใจการปฏิบัติงานด้วย แม้ว่าเราจะมีการถอดบทเรียนทุกปีหลังหมดฤดูไฟป่าฯแต่ต้องยอมรับว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์เปลี่ยนจากความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ประกอบกับการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนด้วย ปัจจัยเหล่านี้จึงไม่สามารถนำบทเรียนมาใช้ได้ เพราะห้วงเวลาต่างกัน เวลาต่างกัน สภาพอากาศต่างกัน อย่างไรก็ตามในพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ผมได้ย้ำแล้วว่าเมื่อบริหารจัดการเชื้อเพลิงต้องดูสภาพลมฟ้าอากาศ ทิศทางลมด้วย”นายวราวุธกล่าวและว่า
ส่วนสาเหตุที่ยังพบเห็นมีการเผาข้ามคืนนั้น ก็เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก คนจ้องเผาก็จะเผา คนป้องกันก็ป้องกัน มันต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามตอนนี้มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยคือโดรนในการตรวจจับจุดความร้อนแล้วก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไฟในตอนกลางคืนไม่ให้ลุกลามได้ ทั้งนี้หากมีสถานการณ์จำเป็นและส่อแนวโน้มรุนแรงก็อาจจะมีการประกาศปิดพื้นที่ทั้งป่าสงวนฯและป่าอนุรักษ์ได้.