ใครที่ยังไม่ได้ดูผลงาน “Open Word” ของศิลปินกลุ่ม Pootorn connect ยังมีเวลาถึงช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เปิดให้ชมทุกวัน ตั้งแต่ 09.00-14.00 น. (เปิดพิเศษเฉพาะช่วงจัดแสดงนิทรรศการ ปกติหยุดทุกวันอาทิตย์) ณ ไก่แก้ว ลำพูนซึ่งงานนี้นอกจาก จะเป็นการรวมพลังของคนนอกศูนย์กลาง ที่ประกอบด้วย กอบพงษ์ ขันทพันธ์, ชินดนัย ปวนคำ, พงษธร นาใจ, วีรยุทธ นางแล, พงศ์ธร กิจพิทักษ์, อนุสรณ์ ธัญญะปาลิต, อนุรักษ์ ธัญญะปาลิต, โรจน์วิรุฬ วรรณแก้ว, พัชรา นันต๊ะนา ง, ประเชิญ จันทร์ตา, มนพร รอบรู้, พิชิต สอนก้อม, อทิตยาพร แสนโพธิ์, ญานุศักดิ์ สืบเมืองซ้าย,ไพศาล อำพิมพ์, นิติพงศ์ นิกาจิ, มูฮัมหมัดต่อฮา หะยียูโซ๊ะ มูฮัมหมัดซุรียี มะซู, อีซูวัน ชาลี, อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล, บุษราพร ทองชัย, วิลาวัณย์ เวียงทอง, อวิกา สมัครสมาน, ประภัสสร คอนเมือง, กฤตพร มหาวีระรัตน์, สุธีธิดา สีบุดดี และอรชุน ทองรักษ์ แล้วยังเป็นการเติมเต็มความฝันของ “พลภูมิ” ชายหนุ่มหน้าเปื้อนยิ้ม อัธยาศัยดี ผู้ที่นิยามตัวเองว่าเป็นคนแก่ดัดจริต อยากทำบ้านให้เป็น Gallery เพราะปกติชอบเดินดูงานศิลปะ ทั้งในประเทศ และต่างแดน แม้หลายครั้ง จะตีความหมายไม่ได้ เพียงเสพ และชื่นชม กับความงดงามของศิลปะ ก็รู้สึกสุขใจผลงานที่หลากหลาย ถูกจัดวางอย่างลงตัวภายในบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ 2 ชั้น แต่ละชิ้นงานมีความหมายในตัวเอง เช่น ผลงานของมูฮัมหมัดซุรียี มะซู แสดงความสัมพันธ์ของภูเขา ทุ่งนา ทะเล และลำธาร ที่รวมเป็นแม่น้ำเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกัน มีความอุดมสมบูรณ์ทางภูมิศาสตร์ ผู้คน และสังคมมีการดำเนินชีวิตที่หลากหลาย มีความเชื่อที่ต่างกันภายใต้กฎหมายที่วางไว้ แต่ความจริงกับความเป็นจริงแตกต่างกัน ณ บ้านฉันปาตานี หรือชิ้นงาน เด็กภูธร 3 คน ที่รังสรรค์โดยพิชิต สอนก้อม แสดงถึงเด็กภูธร 3 คนที่รักในศิลปะ ตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ศิลปะจึงรวมกลุ่มสร้างกิจกรรมทางศิลปะในจังหวัดขอนแก่นบ้านเกิด เพื่อสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการศิลปะของสยามประเทศ “ขณะนี้พวกเราได้ยึดวงการศิลปะร่วมสมัยในขอนแก่นไว้เรียบร้อยแล้ว” เด็กคนนึงกล่าวสำหรับกลุ่ม Pootorn connect เป็นเครือข่าย การดำเนินงานศิลปะแบบกระจายอำนาจ เกิดขึ้นจากความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายศิลปินภูธรในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยน แบ่งปันเรื่องราวข่าวสาร รวมถึงประสบการณ์และข้อมูล องค์ความรู้ รวมถึงมีการดำเนินกิจกรรมทางศิลปะร่วมกัน ระหว่างศิลปินท้องถิ่นที่อยู่นอกเมืองหลวง เป็นการเปิดพื้นที่การแสดงออกในท้องถิ่นที่หลากหลาย ส่งเสริมการเข้าถึงฐานการรับรู้ของผู้คนที่แตกต่าง และสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อสังคมศิลปะในประเทศไทยให้มีฐานรากเติบโตกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค อันเป็นการผลักดันให้ศิลปะเป็นสิ่งสามัญสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม และรื้อถอนความเป็นศูนย์กลางนิยมของสังคมศิลปะ.