สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเปิด “งานเกษตรแม่โจ้ 90 ปี : เกษตร อาหาร สุขภาพ” ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่
วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2566 เวลา 15.20 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปรับปรุงพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ผักศูนย์พัฒนาพันธุ์พืช จักรพันธ์เพ็ญศิริ ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดย นายวีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้
พร้อมด้วย รองอธิการบดี คณาจารย์ นักวิจัย หัวหน้าโครงการปรับปรุงพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ผักฯ เฝ้าฯ รับเสด็จ และกราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงาน ตามที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับพิจารณาให้ดำเนินการโครงการปรับปรุงพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ผักให้กับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ได้สร้างพันธุ์ใหม่ที่ได้รับพระราชทานชื่อพันธุ์ จำนวน 14 พันธุ์ ได้แก่ ถั่วฝักยาว 6 พันธุ์ ถั่วแขก 2 พันธุ์ พริก 2 พันธุ์ ผักกาดหอม 2 พันธุ์ มะเขือเปราะ 1 พันธุ์
และแตงไทย 1 พันธุ์ โดยโครงการการปรับปรุงพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ผักฯ ประกอบด้วยงานหลักงานด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชผัก เพื่อสร้างพันธุ์ใหม่ ๆ ให้กับเกษตรกร งานด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์หลักเพื่อใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทานให้กับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ และงานวิจัยด้านเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์เพื่อประโยชน์ต่อการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
ในครั้งมีการขอพระราชทาน ชื่อพืชผักพันธุ์ใหม่ จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ถั่วพูสีม่วง ได้จากการผสมข้ามระหว่างพันธุ์แม่ WB002-2 กับพันธุ์พ่อ WB010-7 ทำการผสมข้ามพันธุ์เมื่อปี พ.ศ. 2555 ปลูกคัดเลือกจำนวน 9 รอบ จนได้ถั่วพูฝักสีม่วง ให้ผลผลิตจำนวนฝักสูง ออกดอกตลอดทั้งปี มีความสม่ำเสมอ และมีความคงที่ทางพันธุกรรม โดยได้รับพระราชทานชื่อว่า “ของชอบ”
ผักสลัดคอส เป็นผักกาดหอม รหัสพันธุ์ LE-A-1-2-1-3-B-B-2-1-B-B-1-B-B เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการผสมข้ามระหว่างผักกาดหอม ซึ่งประวัติพันธุ์มีการสูญหาย โดยผสมข้ามพันธุ์เมื่อปี พ.ศ. 2554 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพันธุ์ใหม่ให้เป็นผักกาดหอมคอสสีแดง ที่สามารถปลูกได้ในเขตร้อนของประเทศไทย ทำการคัดเลือกพันธุ์ จำนวน 14 รอบ จนได้พันธุ์ผักกาดหอมกลุ่มคอสที่มีสีแดง ทนร้อน อายุเก็บเกี่ยวสั้น ให้ผลผลิตสูง มีความสม่ำเสมอและมีความคงที่ทางพันธุกรรม ได้รับพระราชทานชื่อว่า “ของขวัญ”
สำหรับในส่วนของงานปรับปรุงพันธุ์พืชสมุนไพร ขมิ้นชัน ได้คัดเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะทางการเกษตรที่ดีเบื้องต้น จากพันธุกรรมที่เก็บรวบรวมและอนุรักษ์ไว้แล้วนำมาปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีการชักนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมโดยใช้รังสีแกมมา ซึ่งได้คัดเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะทางการเกษตรที่ดี ผลผลิตสูง ทนทานต่อโรคและแมลง และมีปริมาณสารเคอร์คิวมินไม่น้อยกว่ากำหนดตามมาตรฐานวัตถุดิบสมุนไพรไทย และได้มีการทดสอบความคงตัวของสายพันธุ์แล้วจำนวน 2 พันธุ์
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ยังมีแผนการสนับสนุนการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านพื้นที่เพื่อพื้นที่ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ พร้อมสาธารณูปโภค สนับสนุนการเพิ่มพูนความรู้ ให้กับบุคลากร เช่น การศึกษาดูงาน การฝึกอบรม การผลิตเมล็ดพันธุ์
ผักอินทรีย์ กำหนดให้งานด้านการพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อระบบเกษตรอินทรีย์เป็นนโยบายของมหาวิทยาลัย ด้านงานวิจัยมีการคัดเลือก และทดสอบเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์พืชอินทรีย์ ให้มีประสิทธิภาพ และลดการใช้แรงงาน รวมทั้งสนับสนุนงานวิจัยด้านเกษตรอินทรีย์ กำหนดให้มีงานด้านกาประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่พันธุ์พืช ชื่อพระราชทานให้เป็นที่รู้จัก และมีการนำไปใช้ และ สนับสนุน บริษัท เฟิร์สท์ ออร์แกนิค ซีด จำกัด ในการทำหน้าที่ด้านการตลาด ในทุกรูปแบบ
เวลา 18.16 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “งานเกษตรแม่โจ้ 90 ปี : เกษตร อาหาร สุขภาพ” โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อธิการบดี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และคณะกรรมการดำเนินงานฉลองครบรอบ 90 ปี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เฝ้าฯ รับเสด็จ นายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายพันธุ์พืชพื้นเมือง 4 ชนิด ได้แก่ พันธุ์ฝรั่ง พันธุ์พริก พันธุ์ขมิ้นชัน และพันธุ์ดาวเรืองในโครงการ “ร้อยรวมพืชพันธุ์ สู่การอนุรักษณ์ที่ยั่งยืน” จากความหลากหลายสู่ความงดงาม ฉลองมหาวิทยาลัยแม่โจ้ครบรอบ 90 ปี ซึ่งประชาชนได้มีส่วนร่วมในการวบรวมพันธุกรรมพืชท้องถิ่นเหล่านี้จากทั่วประเทศ จำนวน 306 ตัวอย่าง
ในการนี้ นายวีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
นายเกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง รองอธิการบดี กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานฯ นายพาวิน มะโนชัย รองอธิการบดี กราบบังคมทูลเบิกผู้สนับสนุนการจัดงานเข้ารับพระราชทานโล่ จำนวน 12 ราย จากนั้น เสด็จฯ ไปทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย “งานเกษตรแม่โจ้ 90 ปี : เกษตร อาหาร สุขภาพ” ทอดพระเนตรสวนเกษตรแม่โจ้ 90 ปี นิทรรศการ 9 นวัตกรรมเกษตรแม่โจ้สู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติ ทั้งด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช ได้แก่ กำเนิดข้าวหอมแม่โจ้ ข้าวเหนียวหอมพันธุ์ใหม่สำหรับผู้บริโภค พร้อมแจกเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตร กล้วยไม้รองเท้านารีแม่โจ้ พันธุ์ใหม่ของโลก ปทุมมาสายพันธุ์ล่าสุดสำหรับตลาดไม้ดอกเพื่อการส่งออก พันธุ์ผักชื่อพระราชทาน 14 พันธุ์ที่ได้รับการส่งต่อสู่เกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ของโลก ได้แก่ การค้นพบปลาค้อจุฬาภรณ์ ปลาค้อสมเด็จพระเทพปลาค้อลายเสือแม่โจ้ แสดงถึงระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ของป่าต้นน้ำ การค้นพบตั๊กแตนแม่โจ้-แพร่ ดัชนีชี้ความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงองค์ความรู้เกษตรและนวัตกรรมอื่น ๆ ที่ส่งเสริมภาคเศรษฐกิจของประชาชนในทุกมิติ เชื่อมโยงไปสู่เทรนด์ใหม่ของโลกด้วยนวัตกรรมอีกมากมายที่ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ได้รับการเผยแพร่และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคการเกษตรไทยมาอย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่การก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคเหนือ เมื่อพุทธศักราช 2477 เป็นต้นมา จนถึงวาระการสถาปนามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ครบรอบ 90 ปี การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยด้านต่าง ๆ ทั้ง การเรียนการสอน การวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ที่มีรากฐาน มาจากเกษตรกรรม มีความเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกพระองค์ ตลอดระยะเวลา 90 ปี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ได้มีส่วนในการพัฒนาประเทศให้มั่นคง โดยการน้อมนำพระราชปณิธาน จากพระปฐมบรมราชโองการ ที่ว่า “สืบสาน รักษา และต่อยอด” บูรณาการกับศาสตร์พระราชา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งเน้นการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นด้านการเกษตร ได้ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ รับใช้ประเทศมาเป็นเวลายาวนาน อีกทั้งได้เล็งเห็นถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนอย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ในระดับฐานรากหลังภาวะวิกฤต ทางมหาวิทยาลัยจึงกำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 16-24 ธันวาคม 2566 เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ ทางการ เกษตรที่เหมาะสมแก่ประชาชน และบูรณาการร่วมกันระหว่างเครือข่ายด้านการเกษตรทั้งในและต่างประเทศ โดยกิจกรรมในงานประกอบไปด้วย นิทรรศการแสดงผลงานวิจัย และนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ การสัมมนาทางวิชาการ การอบรมหลักสูตรระยะสั้น ตลอดจนการจัดแสดง และประกวดที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เพื่อแสดงถึงศักยภาพทางด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชาเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน.