ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ทำบุญครบรอบ 36 ปี ขณะที่โครงการแผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 อยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบและจัดทำ EIA คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2573 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 16.5 ล้านคนต่อปี ส่วนแผนสร้างสนามบินแห่งที่ 2 อยู่ระหว่างหาบ.ที่ปรึกษายังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ชี้พื้นที่เดิมยังรองรับได้อีก 10 ปี
วันนี้ 1 มี.ค.67 ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ นาวาอากาศโท รณกร เฉลิมแสนยากร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทชม.ทอท.) เป็นประธานพิธีทำบุญเนื่องในโอกาสวันครบรอบ 36 ปี การดำเนินงาน ท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยมี ผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ สายการบิน ผู้ประกอบการ และผู้ที่ปฏิบัติงาน ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไป ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรจำนวนมาก ซึ่งได้รับเมตตาจากพระราชภาวนาวชิรากร (หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก) วัดป่านาคำน้อย จังหวัดอุดรธานี และพระเถระ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอุดรธานี ออกรับบิณฑบาต จำนวน 9 รูป
จากนั้นผอ. ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยกล่าวว่า ท่าอากาศยาน เชียงใหม่เป็น1 ใน 6 แห่ง ภายใต้การกำกับดูแลของ ทอท.ได้รับโอนกิจการจากกรมการบินพาณิชย์มาอยู่ในความดูแล ของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 และแปรสภาพเป็น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 30 กันยายน โดยครบรอบ 36 ปีวันนี้ และมีผลการดำเนินงานเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นช่วงที่โควิดระบาด
อย่างไรก็ในปีงบประมาณ 2566 ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีผลการดำเนินงานในทิศทางที่เพิ่มขึ้น และมีผลประกอบการเป็นบวก โดยมีอากาศยานพาณิชย์ ขึ้น-ลง 52,682 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 59 มีจำนวนผู้โดยสาร 7.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 79 มีปริมาณการขนถ่ายสินค้า 5,353 ตัน ใกล้เคียงกับปี 2565 แต่เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่มีผลการดำเนินงานสูงสุดมีจำนวนผู้โดยสารกว่า 11.3 ล้านคน พบว่าผลการดำเนินงานในปี 2566 ทั้งจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินยังน้อยกว่าปี 2562 ร้อยละ 30 ซึ่งท่าอากาศยานเชียงใหม่ จะประสานผนึกกำลังกับภาคการท่องเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนให้จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารในปี 2567 เพิ่มขึ้นต่อไป
นาวาอากาศโท รณกร ยังกล่าวถึงความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ที่มีเป้าหมายรองรับผู้โดยสาร 16.5 ล้านคนว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจ้างสำรวจและออกแบบ โดยบริษัทผู้รับจ้างได้สำรวจข้อมูลความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งภายในและภายนอกท่าอากาศยาน จัดทำและนำเสนอแบบร่างขั้นต้น (Schematic Design) ของโครงการฯ แล้ว เมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา และได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ไปพิจารณาปรับปรุงและกำหนดรายละเอียดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่อไป โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้หากเป็นไปตามแผนที่กำหนด และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2569 คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จและเปิดใช้งานได้ในปี 2573
“ปัจจุบันเชียงใหม่มีเที่ยวบินวันละ 190 เที่ยวสัดส่วนเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 30% ในประเทศ 70% มี ในประเทศมี 11เส้นทาง ต่างประเทศ 17 เส้นทาง ส่วนการเปิด 24 ชั่วโมงตั้งแต่ 1 พ.ย.ตัวเลขนักท่องเที่ยวเกือบเท่าปี 62 โดยเฉพาะวันที่ 12-19 ก.พ.ที่ผ่นมาเต็มทุกเที่ยวบิน ซึ่งสนามบินเชียงใหม่เป็นประตูนำพาความสุขสู่เชียงใหม่ และขณะนี้ศักยภาพการรองรับจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 8.5 ล้านคนต่อปีและสามารถขยายได้ถึง 10.5 ล้านคนต่อปี เมื่อแผนพัฒนา 3 ปีเสร็จจะสามารถเพิ่มศักยภาพเป็น 16.5 ล้านคนต่อปี”ผอ.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวและว่า
สำหรับแผนการก่อสร้างสนามบินล้านนาหรือสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 จะต้องดำเนินการหลังจากที่เมื่อพัฒนาสนามบินแห่งที่ 1 และใช้งานไปจนถึง 10 ปีก็จะมีการพิจารณาแนวทางอนาคตว่าจะมีการขยายต่อไปหรือไม่แต่ในเบื้องต้นได้จัดหาบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาทั้งเรื่องของพื้นที่ แนวทางวิ่ง เส้นเสียง สถานีเติมน้ำมันเครื่องบิน ขนส่งสาธารณะ ไฟฟ้า ประปาและระบบบำบัดน้ำเสีย ที่บริษัทที่ปรึกษาจะต้องดำเนินการให้ครอบคลุมสรุปผลการศึกษามาให้ ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการหาบริษัทที่ปรึกษาอยู่ ซึ่งก็ยังมีเวลาเพราะแผนพัฒนาฯสนามบินเดิมจะสร้างเสร็จในปี 69 มีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิมเป็นในประเทศและสร้างอาคารต่างประเทศที่คลังสินค้าเดิม มีการเพิ่มหลุมจอดเป็น 31 หลุมโดยเมื่อปรับปรุงเสร็จจะสามารถรองรับเที่ยวบินได้สูงจาก 24 เที่ยวต่อชั่วโมงเป็น 31 เที่ยวต่อชั่วโมง.