มศว. ร่วมกับ กตป. ด้านกิจการโทรทัศน์ เปิดเวทีภาคเหนือ รับฟังความคิดเห็น ประชาชน ผู้ประกอบการ เพื่อติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ประจำปี 2567
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานด้านกิจการโทรทัศน์ (กตป.) เป็นประธาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ (มศว.) จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) ครั้งที่ 1 ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ประจำปี 2567 ในครั้งนี้ ได้จัดขึ้น ณ โรงแรมแคนทารี ฮิลส์ เชียงใหม่
การจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) ในพื้นที่ภาคเหนือครั้งนี้ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนตัวแทนองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนทั่วไป องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นกว่า 120 คน นอกจากนี้ยังได้แบ่งกลุ่มย่อยทำกิจกรรม Workshop เพื่อนำข้อมูลความคิดเห็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปรวบรวมและสังเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง
ภายใต้ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป ขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น การแข่งขันทางการตลาดที่รุนแรง การสื่อสารข้ามแพลตฟอร์ม การหลอมรวมระหว่างสื่อโทรทัศน์และสื่อโทรคมนาคม จึงเป็นความท้าทายของ กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล ตลอดจนส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม และเป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชน วิสัยทัศน์ของ กสทช. ในการมองภูมิทัศน์อุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ในปัจจุบัน และอนาคต กสทช. มีการกำหนดแนวทาง นโยบาย การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร มีการดำเนินการในการกำกับดูแลสื่อให้มีคุณภาพ เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติ การส่งเสริมและพัฒนาที่เอื้อต่อการอยู่รอดของอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ ที่สอดคล้องต่อการดำเนินงานตาม แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๖๓-๒๕๖๘) (ฉบับปรับปรุง) ประกอบด้วย
มิติเชิงเทคโนโลยี ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน เพื่อสู่การกำหนดแนวทางของทีวีดิจิทัลหลังการสิ้นสุดใบอนุญาตปี ๒๕๗๒ การศึกษาแนวทางการกำกับดูแล และบทบาทของ กสทช. เพื่อรองรับการหลอมรวมในมิติต่างๆ ที่หลอมรวมการให้บริการเนื้อหา ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต และ OTT TV (Over-the-top TV)
มิติเชิงคุณภาพ ต่อการกำกับดูแล และการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการ การจัดการมาตรฐานการกำกับดูแลกันเองที่มีมาตรฐานและจริยธรรม ภายใต้การแข่งขันทางการตลาดของผู้ประกอบการ การส่งเสริมพัฒนาการผลิตคอนเทนต์และเนื้อหาเชิงคุณภาพและความหลากหลาย ต่อการส่งเสริมให้เกิดเนื้อหา และ รายการในอุตสาหกรรมกิจการโทรทัศน์
มิติเชิงเศรษฐกิจ ต่อการสนับสนุน และส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ที่มีความสอดคล้องต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายใต้บทบาทการส่งเสริมพัฒนาของ กสทช. ในการส่งเสริมการผลิตคอนเทนต์คุณภาพและการพัฒนาศักยภาพเนื้อหาสร้างสรรค์