คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดตัวห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร (Complete Integrated Total Lab Automation) แห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการสูงสุด เผยตั้งแต่เจาะเลือด ยันส่งตรวจรวดเร็ว แม่นยำ แค่ชั่วโมงเดียวส่งตรวจได้เป็นพันเคส
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ที่อาคารเฉลิมพระบารมี ชั้น 15 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ม.ช.) โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มช. แถลงข่าวเปิดห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร (Complete Integrated Total Lab Automation) แห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการสูงสุด ยกระดับมาตรฐานการให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย รองรับการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร (Complete Integrated Total Lab Automation) ระบบใหม่ของคณะแพทยศาสตร์ มช. สามารถเชื่อมโยงการทำงานตั้งแต่การเจาะเลือด การตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเคมีคลินิก ภูมิคุ้มกัน โลหิตวิทยา จนถึงการจัดการสิ่งส่งตรวจหลังการตรวจวิเคราะห์ เป็นระบบห้องปฏิบัติการระดับมาตรฐานสากลขั้นสูงสุด ได้มาตรฐานโลก ทั้งนี้เพื่อให้การบริการเป็นที่ยอมรับ สร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ โดยห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร มีความสะดวกและประสิทธิภาพเหนือกว่าระดับเดิมที่มีมาก่อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การลงทุนกว่า 100 ล้านบาท มีความทันสมัยแต่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิม รวมทั้งระบบไฟฟ้าสำรองภายใน 1 นาที จากโรงไฟฟ้าสำรองกรณีไฟดับ
”ห้องปฏิบัติการอัตโนมัติครบวงจรนี้ ตั้งอยู่ ณ ห้องปฏิบัติการชันสูตร ชั้น 1 อาคารตะวัน กังวานพงศ์ ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการการตรวจวิเคราะห์ที่มีความแม่นยำระดับสูงสุด ลดระยะเวลาการทำงาน และเพิ่มความสะดวกสบายทั้งแก่ทั้งผู้รับบริการและบุคลากร ด้วยระบบการทำงานเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนและมีจำนวนมากขึ้น จากโรคต่างๆ รวมทั้งผลกระทบจากฝุ่น หรือ PM 2.5 ที่เชื่อมต่อกันตั้งแต่กระบวนการเจาะเลือดไปจนถึงการจัดการผลตรวจวิเคราะห์ ด้วยสภาพแวดล้อมของห้องเจาะเลือดและห้องปฏิบัติการ ได้รับการปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัย และสอดคล้องตามมาตรฐานสากล ช่วยให้การทำงานของบุคลากรราบรื่นไร้รอยต่อ และผู้เข้ารับบริการได้รับความสะดวกสบายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ในฐานะเสาหลักในการวินิจฉัยโรคที่ตอบสนองที่ไวต่อการรักษาจากผลของห้องปฏิบัติกาา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของพันธกิจคณะแพทยศาสตร์ มช. ในการพัฒนาประสิทธิภาพ และคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ในการเป็นโรงเรียนแพทย์ในดวงใจ“ ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ กล่าว
รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนคร เชียงใหม่ กล่าวว่า โรงพยาบาลของเรารองรับผู้ป่วยนอก 1.6 ล้านคนต่อปี ซึ่งงานปฏิบัติการชันสูตร ทำหน้าที่ในการให้บริการเก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้รับบริการเจาะเลือด 240,000 ราย และให้บริการตรวจวิเคราะห์ถึง 5,400,000 รายการทดสอบ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 7 ในทุกปีปัจจุบันจึงได้ยกระดับห้องปฏิบัติการให้ทันสมัย ด้วยระบบห้องปฏิบัติการอัตโนมัติครบวงจร โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวิเคราะห์ รองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยให้แพทย์สามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโดยทุกกระบวนการมีระบบควบคุมคุณภาพที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล ระบบจัดการคิวอัจฉริยะระบบคิวอัตโนมัติ (Self-service Kiosk) ที่เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของโรงพยาบาล ช่วยให้ผู้รับบริการสามารถกดรับคิวเจาะเลือดได้สะดวก รวดเร็ว ใช้งานง่าย ทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนเสียงเรียกคิวเป็นภาษาอังกฤษสำหรับชาวต่างชาติโดยอัตโนมัติ จึงช่วยจัดการคิวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความแออัดในพื้นที่ ลดความผิดพลาดที่อาจเกิดจากการทำงานของเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องเตรียมและติดฉลากหลอดเลือดอัตโนมัติ ที่ลดข้อผิดพลาดในการเตรียมและติดฉลากหลอดเลือด ซึ่งช่วยให้รองรับผู้รับบริการได้มากถึง 300 รายต่อชั่วโมง และโปรแกรมบ่งชี้ตัวผู้ป่วยก่อนการเจาะเลือด หรือระบบ ABS (Auto Blood collection System) ช่วยยืนยันข้อมูลผู้ป่วยอย่างถูกต้อง รวมถึงแสดงประวัติสำคัญ เช่น การแพ้ ข้องดเว้นในการเจาะเลือดสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย เพิ่มความปลอดภัยและความแม่นยำในการให้บริการ
ห้องเจาะเลือดได้รับการออกแบบเพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย มีโต๊ะเจาะเลือดที่มีระบบปรับอุณหภูมิที่วางแขน 31-39 องศาเซลเซียส เพิ่มความอุ่นใจแก่ผู้ป่วยที่แรกของโรงพยาบาลของประเทศ ช่วยให้ผู้รับบริการรู้สึกผ่อนคลายระหว่างการเจาะเลือด ทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยและลดความแออัดในพื้นที่ มีระบบสายพาน (Flextrac Conveyor System)ช่วยลำเลียงหลอดเลือดจากห้องเจาะเลือดไปยังห้องปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว ลดการสัมผัสหลอดเลือดโดยเจ้าหน้าที่ พร้อมรองรับการลำเลียงได้มากถึง 1,200 หลอดต่อชั่วโมง
“ห้องปฏิบัติการทันสมัย ด้วยระบบห้องปฏิบัติการอัตโนมัติครบวงจรนี้ ช่วยให้การตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเคมีคลินิกภูมิคุ้มกัน และโลหิตวิทยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการตรวจวิเคราะห์ ลดข้อผิดพลาด ลดการใช้แรงงานคน ลดระยะการรอคอยของผู้มาใช้บริการ และเพิ่มความพึงพอใจของผู้รับบริการ และยังช่วยให้บุคลากรสามารถจัดการสิ่งส่งตรวจที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษได้มากขึ้น เป็นการสนับสนุนการให้บริการที่รวดเร็ว และมีคุณภาพตามมาตรฐานระดับสากลการพัฒนานี้ไม่เพียงแต่ยกระดับคุณภาพการบริการของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความไว้วางใจและความพึงพอใจสูงสุดแก่ประชาชน”
รศ.นพ.นเรนทร์ กล่าวอีกว่า การพัฒนาเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระบบอัตโนมัติแบบครบวงจรนี้ ทำให้โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ สามารถรองรับการบริการผู้ป่วยได้มากขึ้น และลดขั้นตอนการทำงานที่อาจเกิดความผิดพลาดจากมนุษย์ เช่น การเตรียมหลอดเลือด การจัดการคิว และการบ่งชี้ตัวผู้ป่วยก่อนการเจาะเลือด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายทั้งแก่ผู้รับบริการและบุคลากรตลอดจนช่วยยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และเป็นก้าวสำคัญในความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาการดูแลสุขภาพในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีมาตรฐานระดับโลกอีกด้วย