นบ.ยส.35วางมาตรการเข้มช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลังสถานการณ์ยาเสพติดเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ไตรมาสแรกปะทะที่ชายแดน 9 ครั้ง จับกุมพื้นที่ตอนใน 52 ครั้ง ยึดยาบ้ากว่า 61 ล้านเม็ด ไอซ์ 2.7 ตันเศษ เฮโรอีน 140 กก.คีตามีน 802 กิโลฯและเคมีภัณฑ์กว่า 800 ตัน จับตากลุ่มขบวนการค้าฯแฝงตัวมาในรูปแบบนักท่องเที่ยว
วันพุธที่ 25 ธ.ค. 67 เวลา 10.30 ณ บก.นบ.ยส.35 พล.ท. กิตติพงศ์ ชื่นใจชน ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ (นบ.ยส.35) พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทิวาพงษ์ พลูโต ผกก.2 บก.ปส.3 ,พ.อ.ชาญชัยวัฒน์ เปล่งสันเทียะ เลขาธิการ กอ.รมน.ภาค 3 สย.2 และ นางสาวสุกันยา ใหญ่วงศ์ ผอ.ส่วนประสานพื้นที่ ปปส.ภาค 5 ร่วมกันแถลงข่าวการกุมจับยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) จำนวน 5,900,000 เม็ดในพื้นที่บ้านราษฎร์ภักดี ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงรายและสรุปผลการปฏิบัติงาน นบ.ยส.35 ไตรมาสที่ 1 (ต.ค.-ธ.ค.67)
พล.ท. กิตติพงศ์ ชื่นใจชน ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ (นบ.ยส.35) กล่าวว่า จากการบูรณาการด้านการข่าวระหว่าง นบ.ยส.35 ร่วมกับ บช.ปส. ได้ติดตามความเคลื่อนไหว ของกลุ่มขบวนการลักลอบลำเลียงยาเสพติด ในพื้นที่ อ.เวียงแก่น จังหวัดเชียงราย โดยปรากฏข่าวว่าในห้วง วันที่ 20 – 25 ธ.ค.67 กลุ่มเครือข่ายขบวนการค้ายาเสพติดในพื้นที่ อ.เวียงแก่นฯ จะทำการส่งมอบาเสพติดให้ กลุ่มขบวนการฯ จากภาคกลาง เพื่อลำเลียงเข้าสู่พื้นที่ตอนในโดยใช้เส้นทาง ภูชี้ฟ้า – บ.ราษฎร์ภักดี ต.ตับเต่า
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 67 เวลา 21.00 น. นบ.ยส.35 โดย บก.สกัดกั้นที่ 4 ได้บูรณาการร่วมกับ กก.2 บก.ปส.3 บช.ปส. (กองกำกับการ2 กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3 กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด), บก.คปส.4 (กองบังคับการควบคุมสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด ที่ 4), ร้อย.ทพ.3105 และหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ จัดตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด พร้อมกับลาดตระเวนตามเส้นทาง ที่คาดว่ากลุ่มขบวนการฯ จะใช้ลำเลียงยาเสพติด ในพื้นที่ ต.ปอ อ.เวียงแก่น และ ต.ตับเต่า อ.เทิง
จนกระทั่ง เวลา 22.00 น. ชุดลาดตระเวนเส้นทาง ได้ตรวจพบรถต้องสงสัยขับเลี่ยงเส้นทางก่อนถึงจุดตรวจแผ่นดินทอง ต.ตับเต่า อ.เทิง หน่วยจึงจัดกำลังติดตามแต่ไม่พบรถต้องสงสัยฯ ดังกล่าว หลังจากนั้นจึงได้ทำการกระจายกำลังค้นหาตามเส้นทางที่คาดว่ารถต้องสงสัยฯจะวิ่งผ่าน จนกระทั่งชุดลาดตระเวนเดินทางมาถึงบริเวณบ้านราษฎร์ภักดี ถนนสายภูชี้ฟ้า – บ.ราษฎร์ภักดี ได้ตรวจพบกระสอบต้องสงสัยถูกทิ้งกองไว้บริเวณข้างทาง จำนวน 20 กระสอบ เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจสอบพบว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 (ยาบ้า) จำนวนทั้งสิ้น 5,900,000 เม็ด ประทับตรา 999 สีน้ำเงิน บนหีบห่อ จึงได้ยึดของกลางทั้งหมดและส่งมอบให้ สภ.เทิง เพื่อดำเนินคดีต่อไปโดยคาดว่ายาเสพติดดังกล่าวมีต้นทางจาก สปป.ลาว แหล่งพักยาในพื้นที่ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว จากนั้นลำเลียงข้ามแม่น้ำโขงเข้าสู่เขตไทยโดยใช้ท่าข้ามตามธรรมชาติในพื้นที่รอยต่อ อ.เชียงของ – อ.เวียงแก่น และลำเลียงมายังแหล่งพักในพื้นที่ ต.ปอ อ.เวียงแก่น ก่อนจะนัดหมายกลุ่มขบวนการลำเลียงฯ จากภาคกลางเข้ามารับยาเสพติดในพื้นที่ บ.ห้วยหาร ต.ปอ อ.เวียงแก่น เพื่อลำเลียงเข้าสู่พื้นที่ตอนในแต่ถูกตรวจพบจากเจ้าหน้าที่จึงทำการทิ้งของกลาง และหลบหนี ซึ่งคาดว่าปลายทางของยาเสพติด อยู่พื้นที่ภาคกลางและปริมณฑล จนกระทั่งมาถูกตรวจยึดในพื้นที่ดังกล่าว
ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ (นบ.ยส.35) กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานของ นบ.ยส.35 ไตรมาสที่1 (ต.ค. – ธ.ค. 67) ได้มีการ จัดทำแผนปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ในพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนชายแดนภาคเหนือ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยกำหนดพื้นที่เพิ่มเติม 3 อำเภอ ในจังหวัดตาก มีการจัดหาสิ่งอุปกรณ์ และเครื่องมือพิเศษเพิ่มประสิทธิภาพ การปฏิบัติงานด้านยาเสพติด เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ในพื้นที่ชายแดนที่สำคัญคือกล้องมองกลางคืนและโดรนตรวจการณ์และประชุมชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกรอบแนวทาง กิจกรรมการขับเคลื่อนงานของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กับหน่วยงานภายใต้แผนงานของ นบ.ยส.35 เสนอให้มีการกำหนดบัญชีรายชื่อสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยาเสพติด เพื่อควบคุมการครอบครองและเคลื่อนย้ายผ่านพื้นที่แนวชายแดน
ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน มีผลการสกัดกั้นและปราบปราม ดังนี้ปะทะกับกลุ่มขบวนการในพื้นที่ชายแดน 9 ครั้ง จับกุมในพื้นที่ตอนใน 52 ครั้ง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ ของจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และ ตาก ตามลำดับ สามารถ ตรวจยึด จับกุม ยาบ้า ได้มากกว่า 61 ล้านเม็ดเศษ, ไอซ์ 2.7 ตันเศษ, เฮโรอีน 140 กิโลกรัม, คีตามีน 802 กิโลกรัม และเคมีภัณฑ์กว่า 800 ตัน จากสถิติการจับกุม เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในห้วงเวลาเดียวกันพบว่าตรวจยึด ยาบ้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 34 ส่วน ไอซ์ เพิ่มขึ้นเกินกว่า ร้อยละ 200
ในด้านการปราบปรามและขยายผล ตำรวจภูธรภาค 5 และตำรวจภูธรภาค 6 เป็นหน่วยหลักในการรับผิดชอบ ในห้วง 3 เดือนที่ผ่านมามี การจับกุมที่สำคัญ จำนวน 27 คดี ผู้ต้องหา จำนวน 27 ราย ทำลายเครือข่ายยาเสพติด รวม 7 เครือข่าย ยึด/อายัดทรัพย์สินประเภทเงินสด บ้าน ที่ดิน เครื่องประดับและอื่นๆ มูลค่ารวมประมาณ 182,842,587 บาท ส่วนป้องกันได้ดำเนินงานด้านกิจกรรมการ โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านชุมชนของตนเองในพื้นที่ 6 จังหวัด 21 อำเภอ 210หมู่บ้านชายแดน โดยฝ่ายปกครองเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการฝึกอบรมและควบคุมการปฏิบัติงานของ ชรบ. นอกจากนี้ได้มีการเพ่งเล็งต่อสถานประกอบการทั้ง 7 ประเภท โดยเฉพาะกิจการขนส่งสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์ที่มักถูกใช้เป็นช่องทางกระจายยาเสพติดไปสู่ผู้เสพโดยตรง
พล.ท. กิตติพงศ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับเคมีภัณฑ์ที่ทำการยึดได้ถึง 800 ตัน ยังพบว่าเป็นเคมีภัณฑ์ที่พบได้ตามท้องตลาดทั่วไปที่ใช้ในด้านการเกษตรและด้านอุตสาหกรรม ถึง 10 กว่าชนิด ขณะนี้ได้แจ้งไปที่ทางกระทรวงยุติธรรมในเรื่องดังกล่าวแล้ว เพื่อจะได้เพิ่มรายชื่อเคมีภัณฑ์เหล่านี้ให้ทางศุลกากรทำการตรวจสอบได้ ซึ่งเคมีภัณฑ์ชนิดใหม่ที่ถูกนำไปสกัดเป็นสารตั้งต้นของยาเสพติดนั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะมาจากประเทศไทย แต่มาจากประเทศเพื่อนบ้านหรือในประเทศอื่นๆ ได้ แต่ในประเทศไทยก็ต้องมีการควบคุมและเพิ่มบัญชีรายชื่อด้วย เพราะเคมีภัณฑ์ดังกล่าว ไม่ได้ผิดกฎหมายและสามารถขนย้ายได้
สถานการณ์ยาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดดนั้น สาเหตุก็มาจากความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีการต่อสู้กัน ประกอบกับการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ทั้งการตรวจจับ การปะทะกับขบวนการลักลอบขนยาเสพติด การตรวจยึดยาเสพติด การยึดทรัพย์ และยังมียาเสพติดที่รอทะลักอยู่ตามแนวชายแดนกว่า 37 ล้านเม็ด ซึ่งบางส่วนได้ลักลอบเข้ามาบ้างแล้ว เมื่อมีการถูกยึด ถูกจับกุม ก็ต้องมีการส่งยาเสพติดเข้ามาเพิ่มเพื่อทดแทนส่วนที่หายไป
ผบ.นบ.ยส. 35 กล่าวด้วยว่า ในห้วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวนั้น ทาง นบ.ยส.35 ได้บูรณาการทุกภาคส่วนทั้งตำรวจ ปปส. ฝ่ายปกครอง ก็ได้ออกหาการข่าวกันในเชิงลึก การสนับสนุนเทคโนโลยีจาก ปปส. เข้ามาเสริมในการตรวจจับ การตั้งจุดสกัดกั้นเพิ่มมากขึ้น การลาดตระเวนที่เข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งในเรื่องของด้านโลจิสติกส์ การเดินทางของสถานีขนส่งรถโดยสาร บริษัทรับส่งพัสดุ ก็จะมีการเข้มงวดในการตรวจสอบมากขึ้น และยังมีรายชื่อรีสอร์ท รายชื่อรถต้องสงสัย กลุ่มขบวนการต่างๆ ไว้อยู่แล้ว หากพบว่ามีรถต้องสงสัยเข้าไปพักในรีสอร์ทหรือตามสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่เป้าหมาย ทางเจ้าหน้าที่ก็จะทำการจับตาดูเป็นกรณีพิเศษ หากพบพฤติกรรมต้องสงสัยก็จะเข้าทำการตรวจสอบและจับกุมทันที และตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ยาเสพติดหมดไปในปี 2568 ทาง นบ.ยส.35 ซึ่งบูรณาการกันทุกภาคส่วน ก็ได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดในเรื่องนี้ เพื่อสกัดกั้นยาเสพติดไม่ให้ทะลักเข้าสู่พื้นที่ตอนในของประเทศ.