ม้งดอยปุยและเครือข่ายม้ง 12 หมู่บ้านประกาศปิดป่าตั้งแต่ก.พ.-พ.ค.ห้ามคนนอกเข้าพื้นที่ พร้อมทำแนวกันไฟตั้งแต่ 5-15 ก.พ.68

ม้งดอยปุยและเครือข่ายม้ง 12 หมู่บ้านประกาศปิดป่าตั้งแต่ก.พ.-พ.ค.ห้ามคนนอกเข้าพื้นที่ พร้อมทำแนวกันไฟตั้งแต่ 5-15 ก.พ.68

ปธ.เครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้งดอยสุเทพ-ปุยเผยติดตั้ง CCTV พื้นที่เสี่ยงไฟ 15 จุดและรอบดอยเพื่อเฝ้าระวังไฟป่า แจงบ้านม้งดอยปุยและเครือข่ายม้ง 12 หมู่บ้านประกาศปิดป่าตั้งแต่ก.พ.-พ.ค.ห้ามคนนอกเข้าพื้นที่ พร้อมทำแนวกันไฟตั้งแต่ 5-15 ก.พ.68

นายเมธาพันธ์ ภุชกฤกษดาภา ประธานเครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้งดอยสุเทพ-ปุย กล่าวในที่ประชุมคณะทำงานจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าดอยสุเทพฝั่งหน้าดอยครั้งที่ 1/2568 ว่า มีหลายพื้นที่ที่เป็นที่ทำกินของชาวบ้านนอกพื้นที่และเวลาเกิดไฟไหม้ก็เข้าไปดับยาก อีกอย่างคือเรื่องของงบประมาณที่เคยสนับสนุนก็ไม่ได้ส่งตรงเข้าทุกหมู่บ้านทำให้การบริหารจัดการไม่ต่อเนื่อง ปีนี้บางหมู่บ้านได้ บางหมู่บ้านไม่ได้งบฯไม่ต่อเนื่องพอบอกว่าไม่ได้งบชาวบ้านก็ไม่เชื่อทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก เวลามีเงินมาช่วยก็เป็นปัญหา ไม่มีเงินก็เป็นปัญหา และยังมีความยุ่งยากเวลาทำเรื่องใช้เงินต้องถ่ายรูปประกอบรายงานอีก

“เมื่อก่อนจะให้เงินอุดหนุนเงินตรงถึงหมู่บ้าน เดี๋ยวนี้เป็นเงินสนับสนุนผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำให้มีข้อจำกัด หมู่บ้านดอยปุยและเครือข่ายม้ง 12 หมู่บ้าน เราใช้วิธีปิดป่าคือจะไม่ให้มีคนเดินเข้าป่าเลย มีการตั้งจุดตรวจ ตั้งด่านเฝ้าระวังตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม คนนอกจะไม่ให้ผ่านเลยยกเว้นเจ้าหน้าที่ ซึ่งตอนนี้บ้านม้งดอยปุยได้เริ่มประกาศแจ้งชาวบ้านแล้วว่าตั้งแต่กุมภาพันธ์จะไม่ให้เข้าดอยผากลองแล้ว เพราะเป็นพื้นที่ที่เราต้องดูแลฟื้นฟูป่า และวันที่ 5-7 ก.พ.68 จะทำแนวกันไฟ ส่วนอีก 12 หมู่บ้านก็จะเริ่มทำแนวกันไฟเหมือนกันวันที่ 15 ก.พ.68 แนวกันไฟพร้อมและตั้งจุดเฝ้าระวังทั้งหมดนี้พวกเราใช้งบประมาณส่วนตัวหมด”ประธานเครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้งดอยสุเทพ-ปุย กล่าวและว่า

ปัจจุบันเราต้องการเทคโนโลยีเข้าไปเสริมในการเฝ้าระวังไฟป่า เพราะเวลากลางคืนจะมีข้อจำกัด ปี 67 เรามี CCTV ตั้งแต่บ้านปง-แม่แรม พื้นที่หน้าดอยถึงพระตำหนักฯมีการติดตั้งCCTV ทุก 1 กิโลเมตร ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงมีกล้อง 15 ตัว พื้นที่รอบดอยอีก 5 ตัว ปีที่แล้วสามารถเห็นไฟจากกล้องแต่เนื่องจากไฟเกิดตอนกลางคืนการเข้าดับยากและอันตราย โดยเฉพาะที่บ้านแม่ในต.แม่แรมซึ่งเป็นพื้นที่หน้าผา

“ผมเป็นผู้ใหญ่บ้านมา 17 ปี สิ่งที่มองเห็นคือเรื่องความปลอดภัยและความมั่นใจของชาวบ้านที่เป็นจิตอาสา เราอยากให้มีการทำประกันเพราะชาวบ้านไปดับไฟเอง เสนอขอมาตลอดขอให้จัดสรรเงินประกันลงหมู่บ้านปีละ 1-2 แสนบาท ไม่ใช่วิธีการที่จะทำตอนนี้ที่ให้หมู่บ้านส่งชื่อ 10 คน เพราะคนดับไฟชาวบ้านจะหมุนเวียนกันไป ไม่ใช่แค่ 10 คนที่ราชการบอกมา ถ้ามีเงินสนับสนุนเป็นกองทุนหมู่บ้านจะช่วยได้มากในเรื่องที่เฝ้าระวังดับไฟป่า”นายเมธาพันธ์ กล่าวและว่า

เรื่องเงินอุดหนุน หมู่บ้านม้งดอยปุยได้ครั้งแรกปี 52-53 ได้งบฯมา 4 หมื่นทำแนวกันไฟ เฝ้าระวังและลาดตระเวน แต่พอเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ตัดงบทันที และพอมีการเลือกตั้งได้นายกฯใหม่ บ้านม้งดอยปุยก็เสนอขอใหม่ 2 ปีที่ผ่านมาได้งบฯเพิ่มเป็น 2 แสนบาท แต่พอช่วง 2 ปีหลังถูกตัดงบไปหมดไม่เหลือสักบาท ซึ่งส่วนตัวมองว่าการถ่ายโอนภารกิจไฟป่ามาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้ทำให้การแก้ไขปัญหาไฟป่าฯ ดีขึ้น เพราะขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหารท้องถิ่น เพราะบางทีก็มีความขัดแย้งกัน

“หมู่บ้านม้งดอยปุยเรามีการเฝ้าระวัง 100 วันโดยหมุนเวียนกัน วันละ 280 คนเฉพาะดอยปุยและทำแนวกันไฟระยะทาง 28 กิโลเมตร ยังไม่รวมถึงงบประมาณดับไฟและลาดตระเวน ซึ่งทุกอย่างใช้งบประมาณ แม้ไม่ได้งบฯ มาตอนหลัง แต่เราก็ยังทำตลอด การให้งบฯ5 หมื่นบาทอุดหนุนหมู่บ้านติดป่าถือว่าน้อยนิดมาก  อย่างกรณีป่าหลังดอย ที่เป็นประเด็นกันอยู่ ก็มีทั้งชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่อุทยานฯกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า บางทีอาจจะต้องทำความเข้าใจให้มากๆ ขึ้นกว่าปกติ เพราะว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหวมากกับมาตรา 40 นี่”ประธานเครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้งดอยสุเทพ-ปุย กล่าว.

 

You may also like

การแข่งขัน “สุดยอดเชฟสร้างสรรค์ อาหารเหนือ” โดยเชฟชุมชน (Local Chef)ทีมหมู่บ้านสร้างดาว คว้ารางวัล 3 หมื่นบาทปรุงเมนู”ผักเชียงดา”ถูกปาก+ใจชาวต่างชาติที่เป็นกรรมการ

จำนวนผู้