จ.เชียงใหม่ (21 พ.ค.58)/ศูนย์ชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มช. จัดเสวนา “บทเรียนทุ่งป่าคา สู่การปฏิรูประบบยุติธรรมในสังคมไทย” ระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ชี้กระบวนการยุติธรรมไม่ได้ใช้ข้อเท็จจริงพิสูจน์ความถูกต้อง เตรียมยื่นถวายฎีกาช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินดคี
เมื่อเวลา 13.00 – 16.30 น. ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้มีการจัดเสวนา “บทเรียนทุ่งป่าคา สู่การปฏิรูประบบยุติธรรมในสังคมไทย” โดยมีกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากคดีบ้านทุ่งป่าคา อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน นักวิชาการ นักกิจกรรม พระภิกษุ และ องค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมกว่า 80 คน
อาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ ประธานกรรมการและหัวหน้าศูนย์ชาติพันธุ์และการพัฒนา กล่าวว่าผู้เข้าร่วมเสวนาส่วนใหญ่ได้รับทราบข้อมูลและปัญหาของกลุ่มชาวบ้านทุ่งป่าคามาโดยตลอด ตั้งแต่ทหารเข้าจับกุมในความผิดฐานครอบครองไม้ต้องห้าม แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจากคำพิพากษาของศาล ก็ทำให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง แต่ใช้การตัดสินแบบรวบยอด ดังนั้นบทเรียนของชาวบ้านทุ่งป่าคา อาจไม่ใช่กรณีเดียวของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทย ไม่มีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมจึงไม่ใช้ข้อเท็จจริงตามสภาพเข้ามาพิจารณา การเสวนาในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อหาคำตอบใน 3 ประเด็น คือ 1 บทเรียนจากทุ่งป่าคา จะนำไปสู่การเรียกร้องความยุติธรรม ได้หรือไม่ 2 สมาชิกในครอบครัวของผู้ถูกดำเนินคดี มีการเข้าไปช่วยเหลือและแก้ไขเฉพาะหน้าอย่างใด และ 3 หลังจากมีคำพิพากษาของศาลไปแล้ว อยากให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากกลุ่มชาวบ้าน
นายพงษ์ศักดิ์ เต็มสามารถ ราษฎรบ้านทุ่งป่าคา ซึ่งบิดาถูกจับกุมคดีครอบครองไม้ กล่าวว่าการเข้าจับกุมของ จนท.ทหาร ใช้วิธีเหมารวม มีการให้ชาวบ้านเซ็นชื่อแทนกัน ชาวบ้านบางคน ครอบครองไม้ไว้ซ่อมแซมบ้านกลับถูกจับกุม ขณะที่บางคนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าไม้ กลับไม่โดนจับกุม นอกจากนี้ปัจจุบัน ยังมีการขอคืนพื้นที่ของราษฎรบางรายที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการครอบครอง ทำให้ชาวบ้านต้องประสบปัญหาทั้งถูกจับกุมคดีครอบครองไม้ และบุกรุกผืนป่าด้วย
ด้าน ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มช. กล่าวว่าก่อนการเสวนาได้ส่งอีเมล์ถึงฝ่ายทหารมณฑลทหารบกที่ 33 เพื่อเชิญเข้ารับทราบข้อเท็จจริงในการเสวนา โดยเฉพาะประเด็นว่าทหารโกหก เพราะฝ่ายทหารเคยแจ้งว่าจะไม่จับคนจน แต่กลุ่มที่เข้าจับกุมราษฎรบ้านทุ่งป่าคา เป็นทหารพรานที่สังกัด มทบ.33 ทั้งนี้กรณีบ้านทุ่งป่าคาก่อให้เกิดแนวคิด 3ข้อ ได้แก่ 1) หลังรัฐประหารทุกครั้ง ทหารจะเข้ามาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องป่าไม้ เนื่องจากต้องการสร้างความชอบธรรมหลังทำรัฐประหารให้คนชนชั้นกลางใน กทม. ได้เห็น ส่วนคนที่ตกเป็นแพะคือคนที่อ่อนแอในสังคม 2) การช่วยเหลือเฉพาะหน้าให้กับราษฎรบ้านทุ่งป่าคา ควรมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา และ 3) ควรมีการรื้อคดี และยื่นถวายฎีกา
บาทหลวงวินัย บุญลือ จากคณะเยซูอิต สวนเจ็ดริน กล่าวว่าคดีบ้านทุ่งป่าคาชุมชนท้องถิ่น ตกเป็นแพะให้กับขบวนการค้าไม้ นอกจากนี้การพิจารณาคดีของศาลยังดูจากสำนวนที่ตำรวจเขียนส่งให้ โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และปัจจุบันกลุ่มชาวบ้านุ่งป่าคาที่ได้รับผลกระทบยังขาดหน่วยงานเข้ามาดูแล ซึ่งหากชาวบ้านออกมาเรียกร้องสิทธิ อาจถูกหน่วยงานของรัฐ เข้าไปข่มขู่ได้
พะตีจอนิ โอ่โดเชา ที่ปรึกษาเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) กล่าวถึงแนวทางการต่อสู้ห้วงต่อไป โดยเฉพาะการยื่นถวายฎีกา โดยจะต้องจัดหาคนเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้าน นอกจากนี้ยังอาจจัดเวทีหารือร่วมกันหลายฝ่าย โดยใช้กลไกการเจรจาของเครือข่ายที่ดินกับรัฐบาลหรือภายใต้กลไกลตามมติ ครม.เมื่อ 3 ส.ค.53
ขณะที่พระครูพิพิธสุตาทร ประธานกรรมการเครือข่ายศาสนาระดับ
อ.เคน แคมป์ ที่ปรึกษาเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย กล่าวว่าระบบยุติธรรมในปัจจุบันยังไม่สร้างความเป็นธรรมเพราะเป็นผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ นอกจากนี้ผู้ถือกฎหมายจะยึดหลักตามตัวอักษรของกฎหมาย มากกว่าความยุติธรรมที่เกิดขึ้นจริง กรณีบ้านทุ่งป่าคา จะต้องมีการสร้างเครือข่าย เพื่อรวมพลังในการต่อสู้
ทั้งนี้ภายหลังการเสวนา ทางผู้จัดได้สรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาบ้านทุ่งป่าคาที่ได้จากการระดมความคิดเห็นของวิทยาการและผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ 1) การเตรียมข้อมูล ให้กับคณะกรรมการสิทธิฯ ซึ่งจะลงพื้นที่บ้านทุ่งป่าคา ประมาณวันที่ 25 มิ.ย. นี้ 2) การเข้าเยี่ยมและช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีที่เรือนจำแม่สะเรียง 3) การเข้าดูแลครอบครัวของผู้ถูกดำเนินคดี 4) การจัดตั้งกองทุนอยุติธรรม 5) การเตรียมยื่นถวายฎีกา 6) การขอให้นักวิชาการที่เข้าร่วมเสวนา เข้าเป็นที่ปรึกษาช่วยเหลือชาวบ้าน และ 7) การเข้าพบผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน เพื่อชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้น.