เริ่มแล้ว!! เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 ครบรอบ 1 ทศวรรษจากพลังสร้างสรรค์ท้องถิ่น สู่การสร้างเศรษฐกิจเชียงใหม่ที่สมดุลและยั่งยืน

เริ่มแล้ว!! เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 ครบรอบ 1 ทศวรรษจากพลังสร้างสรรค์ท้องถิ่น สู่การสร้างเศรษฐกิจเชียงใหม่ที่สมดุลและยั่งยืน

เปิดงาน“เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567” หรือ “Chiang Mai Design Week 2024” (CMDW2024) “กอบกาญจน์”ชี้ 1 ทศวรรษแพลตฟอร์มที่นำเสนอผลงานสร้างสรรค์และการออกแบบที่ช่วยขับเคลื่อนให้ ‘เชียงใหม่’เป็นตัวอย่างของเมืองที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และเป็นเมืองแห่งอนาคต คาดปีนี้มีผู้เข้าชมงานตลอด 9 วันไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ภาคเหนือรวมกว่า 5,000 ล้านบาท

เมื่อค่ำวันที่ 7 ธันวาคม 2567 ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดงาน“เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567” หรือ “Chiang Mai Design Week 2024” (CMDW2024) ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 โดยมีนายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่,นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และ นายสุนทร ยามศิริ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่,ผู้แทนจากสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนหน่วยงานรัฐและเอกชน รวมทั้งผู้ออกแบบ ศิลปินและผู้ประกอบการร่วมพิธีเปิดเป็นจำนวนมาก

นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ได้จัดต่อเนื่องมาแล้ว 9 ครั้ง เหตุที่เป็นเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ เพราะเชียงใหม่เป็นได้มากกว่าสิ่งที่คนจดจำหรือมองเห็นว่าเป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นเมืองศิลปวัฒนธรรม แต่เชียงใหม่ยังเป็นเมืองแห่งอนาคตและจับมือกับเมืองอื่นๆ ในล้านนาอีกหลากหลายเมืองที่ก็มีอะไรดีๆ อีกมากมาย งานเชียงใหม่ดีไซน์วีคทำขึ้นมาไม่ใช่แค่ภารกิจ แต่เพราะเชื่อว่าคนไทยมีอะไรดีและหวังว่างานดีไซน์วีคได้สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่หลายเรื่องคนมองข้เมไปแล้ว ได้รู้ว่ายังไปได้มากกว่าเดิมเพราะมันมีจิตวิญญาณที่ดี

“ปัจจุบันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไปไกลมาก สามารถแข่งขัน มากกว่าคุณค่า ราคาอยู่ที่ตัวตนและการเล่าเรื่อง จะทำให้เจอคนรุ่นใหม่แต่ก็ยังไม่ลืมคนรุ่นเก่า ความสำคัญของงานนี้จะเป็นตัวศิลปิน นักออกแบบและที่สำคัญคือชาวบ้าน พี่น้องประชาชนและคนที่มีความเชื่อมั่นต่อคนเชียงใหม่ คนภาคเหนือ รวมถึงคนไทย ทุกอาชีพว่าแต่ละคนมีความคิดสร้างสรรค์มางานนี้จะได้เห็น และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ งานที่ใช้แต่บุญเก่า แต่เป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาและจะทำให้เราสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้”กรรมการทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวและว่า

เทศกาลออกแบบเชียงใหม่หรือเชียงใหม่ดีไซน์วีค ได้สนับสนุนศิลปินและนักออกแบบกว่า 900 คน มีหน่วยงานพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมมากกว่า 150 หน่วยงาน มีนักท่องเที่ยวและผู้เข้าร่วมเทศกาลฯ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกว่า 1,022,869 คน และจากการเก็บข้อมูลในปี 2018 – 2023 เทศกาลฯ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ภาคเหนือรวมกว่า 5,361.56 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ล้วนตอกย้ำว่าเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ไม่เพียงนำเสนอเรื่องงานดีไซน์เท่านั้น แต่ยังสร้างบทสนทนาของผลงานที่เกี่ยวเนื่องกับการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ที่ทำให้ชีวิตของผู้คนง่ายขึ้นและมีสุนทรียะ รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้

เทศกาลฯ ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “SCALING LOCAL: Creativity, Technology, And Sustainability – For Reviving Recovery” ที่ขยายบทบาทของท้องถิ่น “SCALING LOCAL” จึงเป็นการยกระดับศักยภาพท้องถิ่นที่ผสานทักษะ ความคิด ศิลปะวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ด้วยการใช้สเกลของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ท้องถิ่นในภาคเหนือกับความเป็นสากล ซึ่งภาคเหนือมีนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ๆ ที่สามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้แล้ว นอกจากนี้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของงานออกแบบได้เป็นอย่างดี รวมถึงยกระดับการจัดเทศกาลฯ ให้มีความยั่งยืน ทั้งในบริบทของโมเดลการทำธุรกิจและสิ่งแวดล้อม หัวใจสำคัญของเทศกาลฯ คือการเปิดพื้นที่ทางความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเสมือน ‘ห้องทดลอง’ ที่นำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับเมือง พร้อมกันนี้ยังเชื่อมหรือสร้างให้เกิดโปรดักต์ใหม่ ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนเมืองมากยิ่งขึ้น เทศกาลฯ จัดขึ้นบน 2 ย่านสำคัญของเชียงใหม่ ตั้งแต่ย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ ‘กลางเวียง (อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ – ล่ามช้าง)’ ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น จนถึงย่าน ‘ช้างม่อย – ท่าแพ’ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเชียงใหม่ (TCDC เชียงใหม่) แหล่งความรู้ด้านการออกแบบอันทันสมัย นอกจากนี้เทศกาลฯ ยังจัดโปรแกรมอื่น ๆ กระจายไปยังพื้นที่สำคัญทั่วเมือง เช่น หางดง, สันกำแพง ฯลฯ เพื่อให้ทุกคนสามารถสำรวจความน่าหลงใหลและความหลากหลายของเมืองเชียงใหม่ ผ่านการเดินลัดเลาะตามตรอกซอกซอยด้วยตนเอง ระหว่างวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567

นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีแนวคิดในการสร้าง City Branding ผ่านการจัดกิจกรรมปฏิทินท่องเที่ยวเมืองเทศกาลเชียงใหม่ 12 เดือน 12 ธีม เพื่อส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจและการท่องเที่ยวคุณภาพสูง ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาสัมผัสซอฟต์พาวเวอร์ของเชียงใหม่ได้ในทุกมิติ ทั้ง 12 เดือน 12 อารมณ์ 12 ประสบการณ์ ที่มีความโดดเด่นและแตกต่างกัน การมาเยี่ยมเยือนเชียงใหม่จึงเป็นการยกระดับศักยภาพและเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว และการประชุมระดับนานาชาติด้วยกิจกรรมท่องเที่ยวใหม่ ๆ ได้ตลอดทั้งปี โดยในเดือนธันวาคมนี้ ได้กำหนดให้เป็นเดือนแห่ง Creativity & Design ซึ่งมีเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) เป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของเดือนนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ CEA ได้จัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเชียงใหม่ให้เติบโตตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษ ทำให้ตระหนักได้ว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในทุก ๆ มิติ

นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาเชียงใหม่ในฐานะเมืองสร้างสรรค์ (Creative City) ในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค ด้วยการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ผ่านการวิจัย สร้างพื้นที่ และสร้างความพร้อมของบุคลากรที่ทำงานด้านหัตถกรรมเพื่อเป็นฐานสำคัญของ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ส่งผลให้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 จังหวัดเชียงใหม่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (UCCN Chiang Mai City of Crafts and Folk Art) ด้วยความที่เป็นเมืองที่โดดเด่นด้านการถ่ายทอดเอกลักษณ์อันทรงคุณค่า จากวิถีชีวิต ผ่านภูมิปัญญา สู่งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน

“ เรามุ่งหวังให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการกับองค์กรภาครัฐ เอกชน ชุมชน ภาคการศึกษาและอาชีพของจังหวัดเชียงใหม่ ในนามของจังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ CEA ได้จัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 10 โดยทำหน้าที่เป็นเวทีให้กับนักสร้างสรรค์ เพื่อทดลองใช้งานศิลปะ งานออกแบบ ดนตรี งานหัตถกรรม และอื่น ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างเครือข่ายระหว่างนักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการธุรกิจ และชุมชน รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในจังหวัดเชียงใหม่”รองนายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าว

ด้านนายสุนทร ยามศิริ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่นวว่า นครเชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน มีเอกลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมและชุมชนที่เข้มแข็ง มีพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์มากมาย อาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ และงานประเพณีที่แสดงถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมอันหลากหลาย รวมทั้งมีชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการธุรกิจ นักออกแบบ และช่างฝีมือเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลิตสินค้าและบริการโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดมาจากศิลปวัฒนธรรมและงานหัตถกรรมท้องถิ่น ทำให้หลายย่านในเชียงใหม่มีองค์ประกอบพื้นฐานที่เหมาะสมต่อการพัฒนาไปสู่ย่านสร้างสรรค์และสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ท้องถิ่นได้ การจัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่จะเป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพในการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ของจังหวัดเชียงใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งย่านอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ย่านล่ามช้าง ย่านช้างม่อย และย่านสันกำแพง ล้วนเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สำคัญของการจัดเทศกาลฯ

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการทำหน้าที่ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวตอนท้ายว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา CEA ได้ผลักดันให้เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ไม่เพียงเป็นแพลตฟอร์มเทศกาลงานออกแบบที่นำเสนอผลงานสร้างสรรค์และการออกแบบที่น่าสนใจเท่านั้น แต่ยังช่วยขับเคลื่อนให้ ‘เชียงใหม่’ เป็นตัวอย่างของเมืองที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ มาเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ในปี 2018 – 2023 เทศกาลฯ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ภาคเหนือรวมกว่า 5,361.56 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาชุมชน โดยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการในท้องถิ่น ดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนที่สนใจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สร้างความตื่นตัวเรื่องการออกแบบเพื่อความยั่งยืนให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจในระดับนานาชาติ ผ่านการใช้สินทรัพย์ท้องถิ่นอย่างมีคุณค่า ตั้งแต่ดนตรี อาหาร ศิลปะ และงานฝีมือ ผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้นสำหรับทุกคน นอกจากนี้ในอนาคต CEA ยังมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง โดยเรามีแผนเปิดให้บริการ TCDC แห่งใหม่ในภาคเหนือ จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ TCDC เชียงราย, TCDC แพร่, TCDC อุตรดิตถ์ และ TCDC พิษณุโลก ซึ่งเป็นรูปแบบความร่วมมือระหว่าง CEA กับหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนส่วนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าให้ต้นทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภูมิภาค”

ทางด้าน ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เสริมว่า เทศกาลฯ ในปีนี้ไม่เพียงนำเสนอความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ จากนักออกแบบ ช่างฝีมือ ศิลปิน และผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และขยายเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและสากลเท่านั้น แต่ยังมุ่งผลักดันให้เชียงใหม่เป็นเมืองต้นแบบที่ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และสนับสนุนการรับมือกับความท้าทายสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการสนับสนุนสังคมผู้สูงอายุในเมือง ตลอดจนการพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม

ตลอด 9 วันของการจัดงาน มีการจัดกิจกรรมกว่า 150 กิจกรรม โดยนำเสนอ 3 คอนเซ็ปต์สำคัญ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์, เทคโนโลยี และความยั่งยืน กิจกรรมส่วนใหญ่มุ่งตอบโจทย์ด้านธุรกิจ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และประเด็นทางสังคม ครอบคลุมทั้งเรื่องเมือง อาหาร สิ่งแวดล้อม สินทรัพย์ทางวัฒนธรรม โดยมุ่งเป้าออกแบบคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น และส่งเสริมความยั่งยืนของงานผ่านการจัดกิจกรรม 6 รูปแบบ สำหรับกิจกรรมไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด ได้แก่

1) Showcase & Exhibition นิทรรศการและการจัดแสดงผลงานที่นำเสนอ 3 ประเด็นใหญ่ ทั้งเรื่องธุรกิจ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และประเด็นทางสังคม ที่สะท้อนการแก้ปัญหาในระดับชุมชนและส่งเสริมความยั่งยืน เช่น นิทรรศการ Super Slow โดย MITR. ชูคุณค่าของงานฝีมือดั้งเดิมที่สะท้อนวิถีชีวิตของช่างฝีมือ, นิทรรศการ Floral Wonders: The Journey of a Blooming Economy พลิกโฉมอุตสาหกรรมดอกไม้สู่ระดับโลก, นิทรรศการ แก่ ดี มีสุข (Ready Set Old) โดย THINKK Studio พาไปสำรวจความเป็นไปได้ของเมืองเชียงใหม่ กับโอกาสที่จะก้าวขึ้นมาเป็นเมืองที่มีไลฟ์สไตล์บลูโซน ลำดับที่ 7 ของโลก และ Silently Loud โดย AIS 3BB Fibre3 สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ผ่านผลงานการสร้างสรรค์ที่สะท้อนความสมดุลและยั่งยืน ฯลฯ

2) Talk & Workshop เสวนาและเวิร์กช็อปของเหล่าคนคืนถิ่นทั้งรุ่นเก๋าและรุ่นใหม่ รวมถึงเสวนาในรูปแบบ Roundtable ที่มีนักสร้างสรรค์จากหลายประเทศ เช่น The Designer in Residency เรื่องราวของนักสร้างสรรค์ในพำนัก ที่จะมาบอกเล่าการแลกเปลี่ยนทักษะฝีมือช่าง, Persona of Things โดย COTH studio จุดรวมพลซ่อม โปรเจ็กต์ที่สร้างพื้นที่เพื่อการดูแลและซ่อมแซมสิ่งของ ที่ผู้เข้าร่วมสามารถนำสิ่งของของตนเองมาซ่อมได้ และ SLOW SOUND BY Chiang Mai Holistic ศิลปะคลื่นเสียงบำบัด ที่ช่วยฮีลร่างกายและจิตใจของเรา ฯลฯ

3) Event อีเวนต์ที่ตอบโจทย์ความสนใจที่หลากหลาย เช่น Mango Art Festival 2024 แพลตฟอร์มแสดงผลงานศิลปะระดับนานาชาติประจำปี โดยปีนี้นำเสนอบริบทและมุมมองใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินบนพื้นที่ Creative Space แห่งใหม่, ชุมชนโหล่งฮิมคาว เชิญผู้ชื่นชอบงานคราฟต์และชอบชิมอาหารร่วมงานกาดต่อนยอน ตอน “กิ๋น คราฟท์” Nice Food & Good Craft, ทัวร์ Hidden Home at แม่โฮม ท่องเที่ยววิถีชุมชน อิ่มท้อง อิ่มใจ ไปกับชุมชนที่มีความหลากหลายในด้านวิถีชีวิตของหมู่บ้านแม่โฮม ย่านสันกำแพง ฯลฯ

4) District Programs กิจกรรมพัฒนาย่านสร้างสรรค์ เช่น Urban Symphony ลานพลังสร้างสรรค์ ที่ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนพื้นที่รกร้างในชุมชนช้างม่อยให้เป็นพื้นที่ของการเล่นและพักผ่อนหย่อนใจ ทำให้สามารถแปลงพลังงานจากการเคลื่อนไหวมาเป็นพลังสะอาด, Lam Chang International Film กิจกรรมงานฉายภาพยนตร์นานาชาติซึ่งนำเสนอภาพยนตร์หลายรูปแบบ ที่แสดงถึงอัตลักษณ์และการใช้ชีวิต ณ บริเวณวัดล่ามช้าง สถานที่ซึ่งในอดีตเคยถูกใช้เป็นที่จัดงานมหรสพแห่งสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ ฯลฯ

5) Music & Performance ดนตรีและการแสดงสดจากศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น เทศกาลดนตรี LABB FEST 2024 การแสดงดนตรีสดจากศิลปินไทยและต่างชาติที่ผสมผสานระหว่างดนตรีกับภาพเคลื่อนไหว ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ศิลปินในเชียงใหม่ได้ปล่อยของแก่สายตาผู้ประกอบการในสายดนตรีจากหลายประเทศ, Chiang Mai Street Jazz Festival 2024 เทศกาลดนตรีแจ๊สประจำปีสุดยิ่งใหญ่ พบกับศิลปินจากเครือข่ายเทศกาลดนตรีจากภูมิภาคเอเชียและยุโรป ที่มาผนึกกำลังบรรเลงเพลงแจ๊สอย่างคับคั่ง, Len Yai: Performance Arts โปรเจ็กต์ ‘เล่นใหญ่’ ที่มาสร้างสีสันให้กับเมืองซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2  พร้อมเปลี่ยนพื้นที่ตึกมัทนาและย่านช้างม่อยให้เป็นพื้นที่ศิลปินการแสดง  โดยนักสร้างสรรค์และคนทำงานศิลปะการแสดงทั้งจากเชียงใหม่และต่างประเทศที่ร่วมกันสร้างสรรค์การแสดงตลอดระยะเวลา 8 วัน เพื่อเฉลิมฉลองความเป็นเมืองแห่งเทศกาลและงานสร้างสรรค์ของเมืองเชียงใหม่ ฯลฯ

6) Market & Promotion ตลาดสร้างสรรค์ ได้แก่ ตลาดงานคราฟต์ (Pop Market) ที่นำเสนอสินค้าคัดสรรกว่า 140 แบรนด์ พร้อมส่งเสริมแนวคิดตลาดสีเขียว (Green Market) ให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คน เช่น การส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ กลไกการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ พร้อมทั้งมีจุดล้างภาชนะและจุดแยกขยะที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังมี ตลาดชุมชนช้างม่อยค่อยค่อยงาม ตลาดเปิดท้ายสินค้ามือสองและตลาดนัดชุมชน (Local Market) ที่สนับสนุนผู้ประกอบการและธุรกิจในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

นอกจาก “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567” หรือ “Chiang Mai Design Week 2024” (CMDW2024) จะเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์แล้ว ยังเชื่อมโยงผู้คน ภูมิปัญญา และการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในพื้นที่เชียงใหม่อย่างแท้จริง ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีของเทศกาลฯ ที่มุ่งเน้นการต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรท้องถิ่นสู่ผลลัพธ์ระดับมาตรฐานสากล เทศกาลฯ นี้จึงเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการสะท้อนพลังของการออกแบบที่สามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน พร้อมกระตุ้นให้ทุกคนเห็นคุณค่าของต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ และนำมาขยายผลเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เทศกาลฯ ตั้งเป้าให้เชียงใหม่เป็นตัวอย่างของเมืองที่ผสานวัฒนธรรมและนวัตกรรมเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเทศกาลฯ นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโอกาสใหม่ พัฒนาคุณภาพชีวิต และผลักดันเชียงใหม่สู่ความเป็นเมืองสร้างสรรค์ระดับโลก

มาร่วมสร้างความเชื่อมั่นว่าความยั่งยืนที่แท้จริงเกิดจากศักยภาพของเราทุกคน “SCALING LOCAL” ไปด้วยกัน ใน“เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567” หรือ “Chiang Mai Design Week 2024” (CMDW2024) ระหว่างวันที่ 7 – 15 ธันวาคมนี้ ณ ย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ ‘กลางเวียง (อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ – ล่ามช้าง)’ และย่าน ‘ช้างม่อย – ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เชียงใหม่ (TCDC เชียงใหม่) – ท่าแพ’ และพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น หางดง, สันกำแพง ฯลฯ

 

You may also like

เชียงใหม่ฮอต! ททท.จับมือ LINE MAN Wongnai เปิด “ฟู้ดเฟสติเว่อร์ เชียงใหม่” เทศกาลอาหารสุดยิ่งใหญ่รวมร้านดัง 5 ภาคทั่วไทย ดันสีสันท่องเที่ยวส่งท้ายปี

จำนวนผู้