บริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคมจัดกิจกรรม “พลิกฟื้นคืนป่าตามศาสตร์พระราชา” นำร่องที่บ้านสองธาร ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม ใช้ผืนป่ากว่า 200 ไร่ปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง จากพื้นที่ทั้งหมด 1,700 ไร่ที่เคยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 27 สิงหาคม 2560 ที่บ้านสองธาร ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ บริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม ได้จัดกิจกรรม “พลิกฟื้นคืนป่าตามศาสตร์พระราชา” โดยมีนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยนายอรรถชา กัมปนาถแสนยากร นายอำเภอแม่แจ่ม,นายชานนท์ คำทอง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเปิดงานและมีกลุ่มตัวแทนผู้ถือหุ้นบ.เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม,ตัวแทนภาครัฐและสถานศึกษารวมทั้งประชาชนและจิตอาสาจำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่า ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้น
นายไพรัช โตวิวัฒน์ กรรมการและเลขานุการ บ.เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นนโยบายส่วนที่ 2 ที่บริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หรือ Chiang Mai Social Enterprise (CSE) ซึ่งได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือการแก้ไขปัญหาที่สั่งสมและเรื้อรังของเชียงใหม่ ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานหลายๆ ปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญหาหมอกควัน ที่สร้างความเสียหายต่อทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจของเชียงใหม่อย่างมหาศาล โดยมีกิจกรรมนำร่องในการฟื้นฟูผืนป่าจากเดิมที่เคยมีการบุกรุกเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งหลายคนคิดว่าจะให้เลิกปลูกยากเพราะข้าวโพดเป็นพืชที่ดูแลรักษาง่าย ไม่ใช้น้ำมาก
แต่ปรากฏว่าต่อมาข้าวโพดขายไม่ได้ราคาดี ทำให้เกษตรกรขาดทุน แต่การที่จะได้ป่าคืนก็ต้องหาพืชใหม่มาให้เกษตรกรปลูกทดแทน ด้วยเหตุนี้ทางบริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อชุมชนจึงได้แบ่งป่าออกเป็น 4 ส่วนคือกลุ่มแรกคือทำมาหากิน แบ่งพื้นที่ประมาณกว่า 10% ให้ปลูกข้าวเพื่อไม่ต้องซื้อกิน ส่วนที่ 2 สำหรับทำมาค้าขายประมาณกว่า 15% เพื่อชำระหนี้ ส่งหนี้ให้กับเกษตรกร อีกส่วนคือปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้ก่อสร้าง ไม้กินได้ เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง คือ ใช้เป็นฟืนสำหรับหุงต้มและใช้สอยเบ็ดเตล็ด ใช้สร้างและซ่อมแซมที่พักอาศัย ใช้เป็นอาหาร และเป็นการอนุรักษ์ต้นน้ำ ในหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสนองความต้องการของชุมชนและฟื้นป่าและระบบนิเวศน์ต้นน้ำ ส่วนนี้จะได้พื้นที่ป่าคืนประมาณ 65% และอีก 5 ปีก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ และส่วนสุดท้ายคือพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกหลังปี 2554 ส่วนนี้จะเป็นการปลูกกลับเป็นป่าถาวรและยึดคืนจากที่ถูกบุกรุก โดยพื้นที่ที่ปลูกป่าในวันนี้รวมจำนวน 200 ไร่จากทั้งหมด 1,700 ไร่ สำหรับบริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือ CSE เกิดจากการรวมตัวกันของคนเชียงใหม่ล้วนๆ ตั้งแต่ประชาชนในระดับรากหญ้า นักวิชาการ นักธุรกิจในท้องถิ่นทุกระดับ ทั้งจากที่เป็น และไม่ได้เป็นสมาชิกของ หอการค้าฯ หรือสภาอุตสาหกรรมฯ และผู้ประกอบการรายย่อย โดยไม่ได้พึ่งพิงจากบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ๆ ของไทยแต่อย่างใด
ทางด้านนายชานนท์ คำทอง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่า เป็นการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาที่หลากหลายมิติ ซึ่งอยู่บริบทของแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการมีเป้าหมายร่วมกันที่จะให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเกื้อกูลกัน โดยมีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานในการดำเนินงานเช่นที่ตำบลบ้านทับ อ.แม่แจ่มที่สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่นต่อไปได้.