เชียงใหม่ (26 เม.ย.60) / TJ Thailand จับมือคณะนิติศาสตร์ มช.-ม.เที่ยงคืน จัดถก “ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกับความปรองดองในสังคมไทย” นักวิชาการชี้ทุกฝ่ายจ้องหาเครื่องมือสร้างความเป็นธรรมและความยุติธรรม แต่ไม่เข้าใจบริบทพื้นที่-วัฒนธรรม ส่งผลให้หาเจตจำนงร่วมที่พอจะเป็นที่ยอมรับไม่พบ-ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเมื่อบ่ายวันที่ 26 เม.ย. ที่ห้องประชุม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางคณะทำงานประเทศไทยว่าด้วยความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (TJ Thailand) ได้ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดเสวนา เรื่อง “ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกับความปรองดองในสังคมไทย” โดยมี อ.ชำนาญ จันทร์เรือง เป็นผู้ดำเนินรายการผศ.ภูมิ มูลศิลป์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้นำเสนอแนวทางของคณะกรรมาธิการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ให้แนวทางไว้ว่า กระบวนสร้างความปรองดองเกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งประเทศ และต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ให้ช่วยผสานความแตกแยกของคนในสังคม นำมาซึ่งเปิดใจยอมรับฟังฝ่ายตรงข้ามและให้อภัย และนำข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ ตลอดจนรากเหง้าของความขัดแย้งมาเป็นบทเรียน ในส่วนของสถาบันพระปกเกล้า ให้แนวทางไว้ว่า กระบวนการปรองดองจะบรรลุเป้าหมายได้ ทุกฝ่ายต้องก้าวข้ามไปให้ไกลกว่าการถกเถียงกันเฉพาะข้อกฎหมาย และต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งความขัดแย้ง คำนึงถึงมิติความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคม รวมถึงการมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาและสร้างความปรองดองที่ทุกฝ่ายในสังคมให้การยอมรับนอกจากนี้ยังกล่าวถึงแนวทางของ รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวยกิจและคณะ ที่ได้สรุปไว้ว่ากระบวนการสร้างความปรองดองจะบรรลุเป้าหมายได้ ภายใต้บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยที่ทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกมีบทบาทและพื้นที่ในการถกเถียง ส่วนแนวทาง ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิทและคณะ สรุปไว้ว่าในการสร้างความปรองดองในชาติให้มีการดำเนินการระยะสั้นและระยะยาว โดยใช้กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง และใช้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางมหาชนและทางอาญาในระยะยาวน.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ มูลนิธิด้วยใจ ได้กล่าวถึงการละเมิดโดยรัฐ ในกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสีเสื้อ แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มติดอาวุธ จนเป็นเหตุให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งสถานการณ์เริ่มคุกรุ่นตั้งแต่ปี 2547 ที่นายหะยีสุหลง ถูกอุ้มหายอย่างไร้ร่องรอย และการละเมิดสิทธิยังคงมีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยช่วงตั้งแต่ปี 2545– 2554 มีการบังคับบุคคลให้สูญหาย ทั้งหมด 33 ราย และกรณีเหตุการณ์กรือแซะ เมื่อ 28 ก.ย.47 ก็ทำให้ชาวบ้านโกรธแค้นมาก จนมักจะเป็นเหตุผลที่กลุ่มวัยรุ่นนำมาอ้างในการเข้าร่วมกับกลุ่มก่อความไม่สงบความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านใน จชต.จึงถือเป็นการดำเนินการโดยรัฐและ NGO มุ่งเน้นการค้นหาข้อเท็จจริง เพื่อการจ่ายเงินเยียวยา ไม่ได้มุ่งหวังอย่างจริงจังที่จะนำคนผิดมาลงโทษ หรือยุติวงจรความรุนแรง ทั้งนี้รัฐควรคำนึงถึงเหยื่อ และการทำให้ผู้ที่ถูกเป็นเหยื่อกลับมาเป็นประชาชนปกติ รวมทั้งป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ ตลอดจนอาจมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานของรัฐ นอกจากนี้ยังเห็นว่า ต้องขจัดวัฒนธรรมการไม่รับผิดของ เจ้าหน้าที่ สำหรับความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านนั้น หากขับเคลื่อนโดยรัฐ ก็จะสร้างกลไกการแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยมี NGO ทำหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ เพื่อมุ่งไปสู่สันติภาพต่อไปนายรอมฎอน ปันจอร์ จาก Deep South Wacht ได้กล่าวถึงความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกับกระบวนการสันติภาพ ว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐกับ 3 จังหวัดภาคใต้นั้น เป็นการขัดแย้งที่ต่อสู้ทั้งเชิงสัญลักษณ์ ความเชื่อ และประวัติศาสตร์ โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่าภายหลังเกิดการรัฐประหาร แต่ คสช. ยังดำเนินการตามนโยบายเจรจาสันติภาพกับกลุ่มก่อความไม่สงบ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ แต่ก็ตีกรอบให้เป็นปัญหาภายใน เนื่องจากเกรงถูกแทรกแซงจากต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงไม่มีประสบการณ์ในการพูดคุยเจรจากับกลุ่มที่ขัดแย้งหรือต่อต้านในประเทศของตนเอง เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ ในโลกที่เลือกการเจรจาเมื่อเกิดความขัดแย้งภายในขึ้นต่อมามีการอภิปราย เรื่อง “TJ กับการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองในสังคมไทย” โดย ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ความปรองดองที่ทุกฝ่ายได้คิดไว้ ล้วนอยู่บนฐานของการหาเครื่องมือทางกฎหมาย เครื่องมือของความยุติธรรม แต่ไม่เข้าใจบริบทของพื้นที่ หากจะพูดถึงความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน ก็ต้องจัดการการทะเลาะกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน รัฐกับคนที่มีความคิดแตกต่างกัน และการประทะระหว่างประชาชนด้วยกัน เพราะบริบทสำคัญกว่าโมเดล และบริบทยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ซึ่งในประเทศไทยเราจำเป็นต้องคิดถึงประวัติศาสตร์ให้มาก ถ้าเข้าใจประวัติศาสตร์ก็จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่เกิดขึ้นศ.สายชล สัตยานุรักษ์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มช. กล่าวถึงประเด็นเดียวกันนี้ว่า นอกจากสำนึกประวัติศาสตร์ระหว่างรัฐกับท้องถิ่น หรือรัฐกับผู้ถูกกระทำความรุนแรง เวลาจะสร้างความปรองดองควรคิดถึงมากกว่าสองฝ่ายของคู่ขัดแย้ง โดยสิ่งแรกที่จะสร้างความปรองดองได้ ต้องตกลงกันในเรื่องที่จะเห็นพ้องต้องกันก่อน และต้องยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ อย่างซับซ้อนเข้าไปด้วย เนื่องจากความเป็นธรรม ความยุติธรรม คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหลายฝ่าย ดังนั้นต้องแก้ปัญหาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีปัญหาก่อนปัญหาอื่นๆ จึงจะนำไปสู่ความยุติธรรมและเป็นธรรมได้รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มช. กล่าวว่า ความยุติธรรมจะเปลี่ยนผ่านได้ต้องมีเจตจำนงร่วมที่พอจะเป็นที่ยอมรับกันได้ และตัวอย่างจากหลายสังคมที่ฝ่าย TJ เข้าไป ล้วนมีสถาบันที่ยังประคับประคองให้เดินไปได้ แต่ในสังคมไทยยังมองไม่เห็น เพราะความขัดแย้งในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนของสถาบันต่างๆ ลดลง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันตุลาการ องค์กรอิสระ หรือสื่อมวลชน จนเรียกได้ว่าเราแทบไม่เหลือสถาบันใดที่พอจะยึดถือได้ และถ้าถามว่าเราจะก้าวผ่านความยุ่งยากในสังคมไปได้อย่างไร ก็มองว่าตอนนี้เราเหมือนมุดเข้าไปอยู่ท่ามกลางความยุ่งยาก เรื่องที่ใกล้ตัวยิ่งกว่าคือเราจะดำรงชีวิตท่ามกลางความยุ่งยากได้อย่างไรมากกว่าอ.นัทมน คงเจริญ จากคณะนิติศาสตร์ มช. กล่าวว่าเรื่องเหล่านี้มองได้ในหลายแง่มุม อะไรคือความยุติธรรมของแต่ละคน เราจะเอาคนผิดมาลงโทษไหม ในซูดานไม่เอาใครมาลงโทษเลย เพราะการลงโทษก็คือการแก้แค้นเอาคืน นอกจากนี้ในการชดใช้เยียวยาความเสียหาย ก็มีคำถามคือใครบ้างที่เป็นเหยื่อ และจะเห็นว่ามีความแปลกจากการที่รัฐตั้งคณะกรรมการเอง จึงเสมือนลูบหน้าปะจมูก และที่สำคัญบาดแผลของเหยื่อมักจะถูกเลือนไปตามกาลเวลา ขณะที่โครงสร้างยังมีอยู่เหมือนเดิม นั่นเท่ากับว่าไม่ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับฐานรากแต่อย่างใดด้าน ผศ.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มช. กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญไทย กำหนดว่ารัฐไทยเป็นรัฐเดียวที่จะแบ่งแยกไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งตามมามากมาย ทั้งที่ในความเป็นจริงมีทางออกอีกมาก เช่น จังหวัดจัดการตนเอง เขตการปกครองพิเศษ ซึ่งมีตัวอย่างอยู่แล้ว คือพัทยา และกรุงเทพฯ ในเรื่องความปรองดองก็เช่นกัน ถ้ามีการขับเคลื่อนเรื่องอื่นๆ ก่อน เช่น สันธิสัญญาการทรมาน สนธิสัญญาการอุ้มหาย รวมถึงการผลักดันให้มีศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ซึ่งในยุคนายชวน หลีกภัย ได้เริ่มไว้แล้ว หากมีการขับเคลื่อนต่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่น่าขัดแย้ง แต่พรรคอื่นยังไม่ทราบ.